12 พ.ย. 2553

พระร่วงนั่งเข่ากว้าง กรุเขาพนมเพลิง สุโขทัย

         
พุทธศิลปสกุลช่างสุโขทัย  เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นสกุลช่างที่มีความอ่อนช้อย งดงามในการสร้างสรรค์งานศิลป์  ไม่ว่าจะเป็นพุทธปฏิมา พระพิมพ์ พระเครื่องต่าง ๆ กรุเขาพนมเพลิง เป็นกรุที่ค้นพบพระเครื่องที่มีจำนวนพอสมควรกรุหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย 
“เขาพนมเพลิง” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  บนเขาพนมเพลิงเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาพนมเพลิง”  สร้างมาตั้งแต่ตั้งเมือง “ศรีสัชนาลัย” ตามพงศาวดารเหนือที่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า
         

“สวรรคโลก” กับ “ศรีสัชนาลัย” มีหลักฐานที่ปรากฏทางโบราณคดีว่าเป็นเมืองเดียวกันแต่คนละยุค  จึงเรียกชื่อต่างกัน  “ศรีสัชนาลัย” คนล้านนาใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจ  ต่อมาในสมัยอยุธยา  คนกรุงเก่าเขาเรียกเมืองนี้ว่า “สวรรคโลก”  เป็นหัวเมืองชั้นโท ไม่ค่อยมีใครสนใจ  มาโด่งดังอีกทีก็ตอนสมัย “พระเจ้าตากสิน”  เพราะเมือง “สวรรคโลก” เป็นที่ตั้งของก๊ก “เจ้าฝาง”  คงพอจำกันได้แล้วใช่มั๊ยครับ
ตามพงศาวดารเหนือในข้างต้นนั้นเป็นคำพูดของฤาษีที่เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ผู้ครองอำนาจในสมัยนั้น  เพื่อให้สร้างเขาพนมเพลิงไว้กลางเมืองศรีสัชนาลัย  ใช้บูชาไฟ  ผมจึงสันนิษฐานว่าเจตนาในการสร้างนี่เองถึงเป็นที่มาของชื่อ “พนมเพลิง”
วัดเก่าแถวนี้มีหรือจะไม่มี “พระกรุ”  แน่นอนครับ “วัดเขาพนมเพลิง” มีพระกรุกับเขาไม่น้อยเลยทีเดียว มีมากมายหลายพิมพ์ งดงามในด้านศิลปะแบบลูกผสมระหว่างสุโขทัย กับ อู่ทอง ที่พอจดจำกันได้ก็มีพระพิมพ์  พระศาสดา พระชินสีห์ พระชินราช  พระพิมพ์ขุนแผนเนื้อชิน พระร่วงหลังลิ่ม พระร่วงนั่งเข่ากว้าง พระร่วงนั่งหลังตัน พระพิมพ์ข้างเม็ดบัวสองชั้น พระลายกาบหมาก  พระร่วงทิ้งดิ่ง พระพิมพ์เปิดโลก พระพิมพ์สุโขทัยบัวสองชั้น พระเชตุพนบัวสองชั้น พระพิมพ์พิจิตรบ้านกล้วย  พระซุ้มกอ พระพิมพ์พิจิตรข้าวเม่า พระพิมพ์พิจิตรข้างเม็ด พระสังกัจจายน์ ฯลฯ

“พระร่วงเนื้อชินที่มีความงดงามอีกพิมพ์หนึ่ง คือ พระร่วงนั่งพิมพ์เข่ากว้าง  มีเส้นสายลายลักษณ์งดงาม แต่แฝงไปด้วยพลังความเข้มขลังสมกับความเป็นพระเนื้อชิน  เนื้อพระมีปริ ระเบิดบ้างตามธรรมชาติของพระเนื้อชิน  มีร่องรอยสนิม และการจับตัวของโลหะที่เป็นมาแต่เดิมในกรุ”


ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อชินครับ  พระขึ้นจากกรุในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗   ไม่ใช่ฝีมือของกรมศิลปากรหรอกครับ  แต่เป็นฝีมือ “โจร” ที่ลักลอบขุดสมบัติตามวัดเก่าเจดีย์ร้าง  ทำให้เรารู้จักพระกรุเขาพนมเพลิง  ต้องขอบคุณ “พี่โจร” ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 
เนื้อชินของ “พระกรุเขาพนมเพลิง” นี้ ก็เป็นชินเงินที่มีปรอทขาวจับทั่วองค์  ส่วนองค์ไหนไม่มีผิวปรอท ก็จะพบ “สนิมตีนกา” (นักเลงพระเขาเรียกอย่างนั้นน่ะครับ)  ผมฟังจากชื่อแล้วก็พอจะเดาได้หรอกครับว่าสนิมชนิดนี้คงจะเป็นสีด๊ำ..ดำ  ขนาด”กา” ที่ว่าดำแล้ว “ตีนกา” มันจะดำขนาดไหน  จากการสังเกตของผม “สนิมตีนกา” นี้มันจะมีลักษณะเป็นแผ่นดำบางๆ ขึ้นเป็นหย่อมๆ นะครับ  ไม่ได้มีลักษณะเป็น “เกร็ด”  ส่วนสนิมที่มีลักษณะเป็นเกร็ดที่ขึ้นบนพระเนื้อชินนั้น ภาษานักเลงพระเขาเรียกว่า “สนิมเกร็ดกระดี่” ครับ
เจ้าสนิมตีนกา และ ผิวปรอท นี้เป็นธรรมชาติของพระกรุเนื้อชินเงินนะครับ    ใครมีพระกรุเนื้อชินเงินอยู่กับตัวลองหยิบกล้องมาส่องดูครับ  ส่วนผมเองก็ขอตัวไป “ส่อง” กับเขาบ้าง...แล้วพบกันใหม่นะครับ
สวัสดีครับ.
มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ
http://conservativesiam.blogspot.com/2012/11/blog-post.html





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น