26 พ.ค. 2554

พระสมเด็จ ว่าด้วยเรื่อง บันทึกของ “หลวงปู่ดำ” ตอนที่ ๒


    นตอนนี้เรามาว่ากันด้วยเนื้อใหญ่ใจความ ใน“บันทึกของหลวงปู่ดำ”กันตามสัญญาครับ เนื่องจากบันทึกมีการคัดลอกมาหลายทอดตามที่ “เก๋าสยาม” แจงที่มาที่ไปกันในตอนที่แล้ว ข้อความในบันทึกฉบับสุดท้ายก็ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่ก็พอจับใจความได้ดังนี้ครับ


  
“..พ่อโตบวชพระเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ เกิด ชาตะ ๒๓๓๐ บวชพระ ๖๕ พรรษา มรณะ ๒๔๑๕ บวชเณร ๘ พรรษา บวชตั้งแต่เป็นเณร พ.ศ.๒๓๔๒.. 
และ ข้อความที่ว่า..
"พิมพ์พระสมเด็จทรงนิยมที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จัก
พิมพ์ที่ ๑ ทรงพระประธาน มี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๒ ทรงชายจีวร มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๓ อกร่องหูยานฐานแซม มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๔ เกศบัวตูม มี ๔ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๕ ปรกโพธิ์มีพิมพ์ที่ไม่แตกมี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๖ ฐานคู่มีพิมพ์ที่ไม่แตก มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๗ เส้นด้าย มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๘ สังฆาฏิ มี ๗ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๙ หน้าโหนกอกครุฑ มี ๑๖ พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่
พิมพ์ที่๑๐ พิมพ์ทรงเจดีย์ มี ๒ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์ 
เมื่อพระคุณท่านได้มรณภาพแล้ว รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์ เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์ นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์ แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ และพิมพ์ไกเซอร์ที่เสด็จยุโรป ๓๐๐ องค์ ๆ พิมพ์เป็นพระได้แจกให้พระเจ้าไกเซอร์ ต่อมาได้ทำพิมพ์เศียรบาตรขึ้นมาแทนพิมพ์ไกเซอร์ เพราะใครก็อยากได้พิมพ์ไกเซอร์ เลยเอาพิมพ์เศียรบาตรแทน ต่อมาคนได้เชื่อว่าพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ไกเซอร์ แต่ความจริงไม่ใช่ พิมพ์ไกเซอร์องค์พระนั่งบนบัว " 
     บันทึกของหลวงปู่ดำ เป็นบันทึกที่มีคุณค่าจริงๆ ครับ ทำให้เรารู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพระสมเด็จ เช่น แบบพิมพ์ที่มีอยู่หลากหลาย แถมยังมีพิมพ์คะแนนอีกด้วย ทำให้จินตนาการต่อไปว่า ที่ว่า “พิมพ์คะแนน” มันเล็กกว่า หรือ ใหญ่กว่าพิมพ์ปกติ  นี่ก็เรื่องหนึ่ง ส่วนที่ยังถกเถียงกันอยู่เรื่องพิมพ์ไกเซอร์ ก็มีปรากฏในบันทึกนี้ด้วย “เป็นรูปพระนั่งอยู่บนบัว” ไม่ใช่พิมพ์เศียรบาตร ตามที่เข้าใจกัน
และ..ที่สำคัญ ข้อความที่ว่า..
  "รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์ เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์ นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์ แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ"
     พระสมเด็จพิมพ์ที่นิยมมีมากถึง ๘๑ พิมพ์ ที่ไม่นิยมก็ยังมีอีก ๘๓ พิมพ์ ขนาดพระที่ แตก ๆ หักๆ ยังเก็บไว้ให้เห็นอีก ๘ ถาดทองเหลืองใหญ่ๆ คุณว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่สร้างโดย สมเด็จโต จะมีกี่องค์กัน..
ร้อยองค์..
พันองค์..
หมื่นองค์..
แสนองค์...
หรือ..จะมีแค่สองร้อยองค์อย่างที่บางคนเขาว่ากัน..?
สวัสดีครับ



เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  

พระสมเด็จ ว่าด้วยเรื่อง บันทึกของ “หลวงปู่ดำ”

ตำนานเรื่องราวในการสร้าง “พระสมเด็จ” มีมากมายหลากหลายที่มา บ้างก็เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา บ้างก็เป็นวัตถุที่อ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับ   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  แต่ที่มีพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ อีกชิ้นหนึ่งก็เห็นจะเป็น “บันทึกของหลวงปู่ดำ”  ครับ
เราคงมีคำถามในใจกันแล้วล่ะครับว่า “หลวงปู่ดำ เป็นใคร?” เกี่ยวข้องกับ “สมเด็จโต” อย่างไร
“หลวงปู่ดำ” เป็นพระสงฆ์ยุคเดียวกับ “สมเด็จโต” คือมีชีวิตอยู่ทันกันแถมยังรู้จักกันอีกด้วย แกมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดอัมรินทร์ มีหลักฐานปรากฏในภาพถ่ายยอดฮิต! ที่ “เก๋าสยาม” นำมาให้ชมกันด้านล่างนี้เลยครับ

     "หลวงปู่ดำ"  คือ พระที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายของ สมเด็จโต ตามภาพถ่าย สมเด็จโตแกชอบเรียกว่า “หลวงพี่ดำ” เป็นอันสิ้นสงสัยไปข้อแรกว่าหลวงปู่ดำมีตัวตนจริงๆ และมีชีวิตอยู่ทันกับสมเด็จโต และหลวงปู่ดำ เป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วย สมเด็จโต ทำพระสมเด็จ อีกด้วย
ทีนี้มาดูบันทึกของหลวงปู่ดำกันว่าเป็นมายังไง   เท่าที่ “เก๋าสยาม” สืบค้นดูยังไม่เจอบันทึกฉบับดั้งเดิม (original) เจอแต่ บันทึก.. ของ.. บันทึก.. ของ.. บันทึก..ของ..บันทึก  คือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ 

เนื่องด้วยหลวงปู่ดำ แกเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สร้าง พระสมเด็จ พอสมเด็จโต มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๑๕ หลวงปู่ดำ ก็ทำการรวบรวม “แม่พิมพ์พระสมเด็จ” ที่ยังคงใช้การได้อยู่ คือ ไม่แตก ไม่หัก สามารถใช้เป็นแม่พิมพ์ต่อได้  มาทำการจดบันทึกไว้ ทีนี้ในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ถึงคราว หลวงปู่ดำ ท่านมรณภาพบ้าง ต่อมาอีก ๔ ปี คือใน ปี พ.ศ.๒๔๒๕ บันทึกนี้ก็มีการคัดลอกขึ้นมาใหม่และฉบับที่คัดลอกขึ้นมาใหม่นี้ตกไปอยู่กับ “พระครูปลัดมิศร์” ก็ไม่ใช่พระที่ไหนอื่นไกลหรอกครับ ท่านก็นั่งอยู่ข้างๆ หลวงปู่ดำ ตามภาพถ่ายข้างบนนั่นแหละครับ  อา......บันทึก..ของ..บันทึก ได้เกิดขึ้นแล้ว 

ลุปี พุทธศักราช ๒๔๓๙  “นายพึ่ง” บุตรชาย ของ “นายเลี่ยม” บ้านช่างหล่อ ( หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่หลังวัดระฆังครับ)  ได้ขอคักลอกบันทึกนี้จาก พระครูปลัดมิศร์ อีกต่อหนึ่ง “นายพึ่ง” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ชื่อเสียงคุ้นหูว่าเป็นหนึ่งในบรรดา “ช่างหลวง” ผู้แกะแม่พิมพ์พระถวายสมเด็จโตที่เรารู้จักกันในนามว่า “หลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมากร)” 

เช่นนี้เอง  บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึก ได้กำเนิดขึ้นในครานี้
เล่มสุดท้ายที่ “เก๋าสยาม” พบเจอก็คือเล่มนี้ ครับ

     
     ตามภาพถ่ายนี้คือ บันทึกเล่มที่หลานของ “หลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมากร)  แกชื่อว่า “นายจอม” มีตำแหน่งแห่งที่เป็นถึง หัวหน้ากองกษาปณ์ในสมัยนั้น ( สมกับเป็นตระกูลช่างหลวง จริ๊งๆ ) ได้คัดลอกขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นอันสิ้นสุดตำนานของ บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึกของ“หลวงปู่ดำ”









คราวหน้า..เดี๋ยวเรามาว่ากันด้วยเรื่องเนื้อหาใน “บันทึกของหลวงปู่ดำ” กันครับ
สวัสดีครับ

พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ

          "เล่นสมเด็จ เสร็จทุกราย"  เป็นคำพูดทีเล่นทีจริงที่คุ้นหูในบรรดาแวดวงนักสะสมพระเครื่อง ด้วยเหตุว่า "พระสมเด็จ" เป็นสุดยอดพระเครื่อง ยอดปรารถนาที่จะหามาครอบครองของผู้สะสม จนทำให้มีมูลค่าการสะสมที่สูงเป็น แสน เป็นล้าน หรือ หลายสิบล้านบาท ตลอดจนมีการสร้างพระเครื่องเนื้อผง รูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนฐานสามชั้น สืบต่อเนื่องกันมาหลายต่อหลายยุค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่นับรวมถึงพวกทำปลอม เลียนแบบ พระสมเด็จ มากจนนับเนื่องไม่ได้ แนวทางการศึกษา "พระสมเด็จ" ก็มีมากมายหลายตำรา หลายสำนัก การเข้าถึงความจริงแท้แห่ง "พระสมเด็จ" จึงหาข้อยุติไม่ได้ในปัจจุบัน


          ในช่วงไม่นานมานี้ ผมได้ยินได้ฟัง "นักเลงพระ" รุ่นเก่า เก๋า กึ๊ก พูดถึงพระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ ว่าเป็น "พระสมเด็จ" อีกพิมพ์หนึ่งที่นักนิยมสะสมพระเครื่องรุ่นเก่าชื่นชอบกัน และ มีสนนราคาเล่นหากันแพงมากในอดีต  แปลกใจตรงที่ว่า คนสมัยนี้ทำไมไม่นิยม หรือ บางทีก็ "สวด" ว่าเป็นพระ "เก๊!"  กันเลยก็มี  ได้ยินได้ฟังแบบนี้ "เก๋าสยาม" จะไม่สนใจ  เลยเลียบๆ เคียงๆ ถาม "นักเลงพระ" รุ่นเก๋าให้รู้ความกันไปเลย  ก็เลยอยากจะบอกกล่าวเล่าแจ้งให้ฟังกัน


         "หลวงสิทธิ์ฯ" เป็นช่างหลวงคนหนึ่งในยุคร่วมสมัยกับ "สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี" ที่ผมทำเครื่องหมาย "ฯ" ไว้เพราะผมเองก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดแจ้งว่า "หลวงสิทธิ์ฯ" แกชื่อเต็มๆ ว่าอย่างไร  บ้างก็ว่า ชื่อ หลวงสิทธิการ บ้าง หรือ บ้างก็ว่า ชื่อ หลวงสิทธิโยธารักษ์ ก็มี  เอาเป็นว่าของติดไว้ก่อนแล้ว เก๋าสยาม จะลองไปสืบค้นให้นะครับ ในชั้นนี้ของเรียกว่า "หลวงสิทธิ์ฯ" ไปก่อนก็แล้วกัน


          นักเลงพระรุ่นเก๋ายังเล่าต่อไปว่า หลวงสิทธิ์ฯ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จให้กับ สมเด็จโต แห่ง วัดระฆัง อีกท่านหนึ่งด้วย แกยังบอกด้วยว่า แกะแม่พิมพ์ถวายก่อนพิมพ์ ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ตั้ง 30 ขวบปีกว่า  หมายความว่า พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ เก่ากว่า พระสมเด็จพิมพ์หลวงวิจารณ์ฯ แกยืนยันว่าอย่างนั้น ครับ!


          "แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าพิมพ์ไหนเป็นของหลวงสิทธิ์ฯล่ะครับ"  เก๋าสยามถามต่อ


          "พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ  มีเอกลักษณ์ที่องค์พระจะดูล่ำสัน สมส่วน สง่าผ่าเผย ที่สำคัญ ฐานชั้นที่สองที่บางคนเรียกฐานสิงห์ หรือ ขาสิงห์ นั้น หัวฐานด้านขวามือขององค์พระจะเชิดขึ้นแบบ หัวเรือสำเภา  ตรงบริเวณนี้จะมีการยุบตัว ม้วนตัว ที่บ่งบอกได้ถึงความเก่า น่าจะถอดแบบมาจาก "พระอู่ทองฐานสำเภา" นั่นแหละ"  ลุงนักเลงพระรุ่นเก๋าอธิบายอย่างมั่นใจ


          บทสนทนาสั้นๆ ของเราจบลงเพียงเท่านี้ และนี่เป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ยังไงก็ฟังหู ไว้สองหู ก็แล้วกันนะครับ


มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ
http://conservativesiam.blogspot.com/2012/11/blog-post.html


    


พระสมเด็จตามรูปด้านล่างนี้ผมเปิดให้บูชามูลค่าในการสะสมตั้งไว้ที่องค์ละ 8,800 บาท นะครับ...สนใจติดต่อโทร.087-551-5255