21 พ.ย. 2553

มองให้ทะลุ “พระผงสุพรรณ” กับ “พระซุ้มกอ” แขวนพระกรุไหนก็เหมือนกัน

ถ้าใครเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์พระเครื่องโดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคี  มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจระหว่าง “พระผงสุพรรณ” กับ “พระซุ้มกอ”
อย่างแรก “ตำนานลานเงินลานทอง” ที่จารึกการสร้างพระทั้งสองกรุนี้ อ่านแล้วผมว่าคนแต่งอักขระ น่าจะเป็นกลุ่มคนชุดเดียวกัน  มีสำนวนการเขียนใกล้เคียงกัน บุคคลที่กล่าวถึงก็เป็นกลุ่มเดียวกันอีกด้วย ลองเปรียบเทียบดูนะครับ (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ)
จารึกลานเงินที่พบในเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม “กรุพระซุ้มกอ” ตัดความมาบางส่วน
     "ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤาษี ๑๑ ตน เป็นใหญ่ ๓ ตน ฤาษีพิราลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ..........ครั้นเสร็จแล้วฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด...ฯลฯ"
จารึกลานทองที่พบในพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ  “กรุพระผงสุพรรณ” ตัดความมาบางส่วน
     "สิทธิการิยะ แสดงบาทไว้ให้รู้ มีฤาษีพิราลัย เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณเป็นต้น คือ พระบรมกษัตริย์พระศรีธรรมาโศกราช เป็นผู้ศรัทธา ฤาษีทั้ง ๔ ตน จึงพร้อมกันนำเอาแร่ว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์กับแร่ต่างๆ ครั้นได้แล้ว พระฤาษีจึงอันเชิญเทพยดาเข้ามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง ได้เอาว่านทำเป็นผงปั้นพิมพ์ ด้วยลายมือพระมหาเถรปิยทัสสีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น...ถ้าผู้ใดได้พบ ให้รีบเอาไปสักการบูชาเป็นของวิเศษ...”
(จารึกลานเงินและลานทอง คัดลอกบางตอน จาก หนังสือพระเบญจภาคี ของ “คุณตรียัมปวาย”)
มาถึงตอนนี้คงพอเชื่อได้ว่าพระฤาษี และ คณะสงฆ์ผู้สร้าง “พระซุ้มกอ” และ “พระผงสุพรรณ” เป็นคณะเดียวกัน  โดยในพิธีการสร้างทั้งสองแห่ง มี “พระศรีธรรมาโศกราช”  ที่คุณตรียัมปวายได้สรุปไว้ว่า คือ “พระมหาธรรมราชาลิไทย” กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยร่วมพิธีด้วยทั้งสองครั้ง 
พุทธคุณ และ อิทธิคุณ ของพระพิมพ์ทั้งสองกรุก็น่าจะ...เหมือนๆ กัน
หลักการเดียวกันกับที่ผมเคยเห็นคำโฆษณาในหนังสือพระเครื่องต่างๆ อ้างอิงพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกพระรุ่นนั้นรุ่นนี้นอกวัดของท่าน  เพื่อเป็นเครื่องการันต์ตีความขลัง  เช่น พระเครื่องรุ่นนี้ออกที่วัดไร่วารี “หลวงปู่ทิม” ปลุกเสก  พระเครื่องของ “หลวงปู่ทิม” ออกวัดละหารไร่ กับ วัดไร่วารี ก็น่าจะมีพุทธคุณเหมือนกัน เพราะผู้สร้างเป็นบุคคลเดียวกัน (ทำไม..ราคาต่างกันฟะ!)
ดังนั้น...พระทั้งสองกรุนี้นำมาไว้บูชาเพียงองค์ใดองค์หนึ่งก็น่าจะเป็นดังคำที่ว่า “มีกูไว้ไม่จน” เหมือนกัน  แต่ถ้า “มีกูไว้แล้วไม่ทำมาหากิน” รับรอง “จน” แน่นอนครับ
เชื่อเถอะครับเพราะอย่างน้อยก็ประหยัดเงินเช่าพระไปครึ่งหนึ่งจากต้องเช่าทั้งสององค์  ก็เหลือแค่องค์เดียว ถ้าจะอ่านเกมส์กันแบบขาด..เลย พิมพ์ไหนก็ได้ครับที่มาจากสองกรุนี้..เลือกเอาตามกำลังตามศรัทธาเลยครับ
เอาล่ะเรามาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์กันต่อ..
ว่าแต่ว่า “พระมหาธรรมราชาลิไทย” หรือ “พระศรีธรรมมาโศกราช” ในจารึกลานเงินลานทองนั้น มาทำอะไรที่ “สุพรรณ” ซึ่งเป็นเขตปกครองของ “พระเจ้าอู่ทอง” แห่งกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น?
แล้วที่ว่า “..พระมหาเถรปิยทัสสีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น..” เป็นใคร มาจากไหนกันหนอ?
To be continue…

โปรดติดตามตอนต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น