20 พ.ย. 2553

“พระกรุ” ความสนุกที่มีมนต์เสนห์ในการสะสม

เดินเข้าตลาดพระทีไรต้องได้ยินคำถามยอดฮิตจากบรรดาเซียนเก่า เซียนแก่ถามนักสะสมรุ่นใหม่ไฟแรงว่า
“ไอ้น้องเดี๋ยวนี้เขาฮิตเหรียญหลวงพ่ออะไรกันแล้ววะ....ราคาไปยังไงกันแล้วล่ะ”
ค่านิยมของนักสะสมพระเครื่องยุคนี้แตกต่างจากยุคก่อนๆ  ในอดีตนักสะสมพระเครื่องชื่นชอบการสะสมพระกรุ พระเก่า พระโบราณ  ปัจจุบันนักสะสมพระเครื่องจำนวนมากหันมาสะสมพระเครื่องที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ต่างๆ
เนื่องจากมีความชัดเจนในเรื่องเนื้อหา แยกแยะพิมพ์ทรงได้ง่าย เป็นระบบ รู้ผู้สร้างที่แน่นอน มีที่มาที่ไป ประสบการณ์ผู้ใช้บูชายังพอบอกเล่า สืบค้นต้นตอกันเจอ
ไม่เหมือนกับพระกรุ พระโบราณ ดูข้อมูลจะลางเลือน สับสน ไปหมด 
ความสนุกที่มีเสน่ห์มันก็อยู่ตรงที่ไม่รู้แน่ชัดนี่แหละครับ
คนโบราณสร้างพระเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา  ทำให้พระกรุมีเป็นพันๆ กรุ มีหลายยุค หลายสมัย พุทธศิลปะก็แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย  ไม่ว่าจะเป็นทวาราวดี , ศรีวิชัย ,สุโขทัย ,อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์  ทำให้เราย้อนเวลาสู่ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ
พระพิมพ์ หรือ พระกรุโบราณเหล่านี้มีตำนาน มีเรื่องราวในการบอกเล่าให้เราเสมอ
ลองคิดตามกันนะครับ.....
วันหนึ่งถ้าคุณได้พระกรุโบราณมาครอบครองอยู่องค์หนึ่ง  ดูรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นพระเนื้อชิน  แต่ทำไมที่ฐานพระมีเนื้อเกินเป็นเดือยยื่นออกมา  พลางก็นึกได้ว่า
“อ๋อ..เป็นพระยอดธงนี่เอง”
“แล้วมวลสารนี้ทำจากอะไรน้า?
มาถึงตอนนี้ก็ต้องหยิบกล้องส่องพระคู่ชีพออกมาใช้งานเพื่อดูว่าเป็นเนื้ออะไร 
ด้วยภูมิรู้ของคุณพอเห็นเนื้อโลหะมีคราบผิวปรอท มีสนิมขุม เนื้อระเบิด ปริบางส่วน บางช่วงมีไขสีขาวๆ ขุ่นๆ คลุมเนื้อพระดูฉ่ำ ก็เชื่อได้ว่าทำจาก
“ชินเงิน”
“แล้วกรุไหนวะเนี่ย”  คุณพึมพำกับตัวเองเพื่อให้สมองดึงข้อมูลออกมา
ดูหน้าตาที่เรียวรี   พุทธลักษณะปางมารวิชัย แต่สีหน้าดูเคร่งเครียดขององค์พระ ไม่อ่อนช้อย จึงสรุปได้ว่าเป็น “ยุคอยุธยา”  
มาถึงตอนนี้คุณวางกล้องลงแล้วมองดูพระพักตร์ขององค์พระอีกครั้งจึงรู้ว่ามีสีหน้าเคร่งเครียดจริงๆ  เลยเดาเอาว่าช่างแกะพิมพ์พระคงจะเครียดด้วยแน่ๆ
คุณกำพระไว้ในมือขวาพลางหลับตานึกย้อนอดีตไปว่า 
เห็นหมู่สงฆ์ผู้มีวิชาเข้มขลังแห่งกรุงศรีอยุธยา กำลังสวดประสิทธิพุทธคุณลงในพระยอดธง โดยมีกษัตริย์ที่แต่งกายนักรบสมัยโบราณในชุดแม่ทัพนั่งเด่นเป็นประธาน  อยู่ท่ามกลางทแกล้วทหารหาญแห่งกรุงศรีอยุธยา เข้าร่วมพิธีและรับพระองค์นี้ติดไว้บนยอดธงประจำกองทหารของตนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการออกต่อสู้กับข้าศึกผู้รุกรานพระนคร  
บัดนี้..พระองค์นี้มาอยู่ในมือคุณแล้ว   
คุณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ไปแล้วล่ะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น