30 พ.ย. 2553

"พระรอดสองหน้า" พระนามกระเดื่องแห่งเมืองพะเยา

“พะเยา” เป็นเมืองเก่าแก่อีกเมืองหนึ่งบนแผ่นดินล้านหน้า  สำหรับ “พระกรุพะเยา”  เป็นพระที่ขุดพบในเขตจังหวัดพะเยา  มีมากมายหลายกรุ  ผมขอเรียกรวมๆ ว่า “พระกรุพะเยา” ก็แล้วกันนะครับ   นักวิชาการด้านโบราณคดีสันนิษฐานว่า “พระกรุพะเยา” นี้น่าจะสร้างราวๆ พทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘  ก็นับว่าเก่าไม่ใช่น้อย  แต่ก็เป็นยุคหลังพระสกุล “ลำพูน” ที่สร้างราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดูจากตำแหน่งแห่งที่ของพระทั้งสองกรุนี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ใกล้..เดินก็เพียงชั่วเคี้ยวหมากแหลก (แหลกแล้วแหลกอีกน่ะสิ)  ฝีมือเชิงช่างและคตินิยมในการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์น่าจะหนีกันไม่ไกลนัก























พระพิมพ์ที่ขึ้นชื่อลือชา ของกรุพะเยานี้ก็มีหลายพิมพ์หนึ่งในนั้นก็คือ พิมพ์พระรอด  และที่ไม่เหมือนใคร คือ หน้าเดียวกลัวไม่รอดจึงเป็น “พระรอดสองหน้า”  เป็นพระเนื้อชินเขียว  บ้างก็เรียกชินอุทุมพร  พุทธลักษณะเป็นพระพุทธปางมารวิชัย  ประทับนั่งอยู่บนฐาน “เขียง” ภายใต้ซุ้ม “โพธิ์ขีด”    ลองสังเกตดูแล้วหน้าตาก็คล้ายพระรอดสกุล “ลำพูน” อยู่มากทีเดียว

ทีนี้เรามาดูลักษณะเฉพาะของ “พระรอดสองหน้ากรุพะเยา”  องค์นี้กันดีกว่า   อย่างแรกที่เห็นชัดเจนคือ มีไขสีขาวอมเหลืองหม่นๆ ขึ้นเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ กระจายอยู่เต็มองค์พระทั้งสองหน้า  ลักษณะแบบนี้นักเลงพระเขาเรียกว่า “สนิมไข ไข่แมงดา” ส่วนลักษณะมวลสารที่เป็นชินเขียวหรือชินอุทุมพร  ก็มีลักษณะเป็นมัน ฉ่ำ ไล่เฉดสี ดำ เทา น้ำตาล เข้ม อ่อน  แตกต่างกันไปดูแล้วซึ้งตา มาดูรูปกันเลยดีกว่าครับโบราณว่า “สิบปากว่าไม่เท่าสองตาเห็น”


คนรุ่นเก่านักเลงรุ่นใหญ่เขายกนิ้วให้ว่าพระรอดสองหน้าชินเขียวนี้ “เหนียว” จริง ไอ้ที่เหนียวน่ะหมายถึง หนังเหนียวอยู่ยงคงกระพันนะครับประเภท “ฟันไม่เข้า (ไม่เข้าไปยุ่งด้วย) ยิงไม่ออก(ไม่ออกจากบ้าน)” ไม่ใช่ “เหนียวหนี้”  เรื่องพุทธคุณเนี่ยเป็นความเชื่อส่วนบุคคลครับ แต่ผมมั่นใจว่าถ้าอาราธนา “พระรอดสองหน้าชินเขียวกรุพะเยา” นี้ขึ้นคอบูชาแล้วอยู่ยง “คงความดี” รับรองชีวิตไม่มีอันตรายแน่นอนครับ
สวัสดีครับ.

มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ


28 พ.ย. 2553

ค้นตำนาน "พระสมเด็จพิมพ์ยอดขุนพล"

เรื่องเก่าวันวาน  เล่าเป็นตำนานขานกล่าวกันต่อมา...ว่ามี “พระสมเด็จวัดระฆัง” พิมพ์พิเศษอยู่พิมพ์หนึ่งเป็นเอกอุ กว่าพิมพ์ใด บ้างก็เรียกว่า “พิมพ์มหาอำนาจอุดมยศ”  บ้างก็เรียกว่า “พิมพ์ฐานสิงห์สามชั้น”  หรือ “ พิมพ์ยอดขุนพล” ก็มี
เรื่องเก่า..เก๋าๆ แบบนี้มาถึง “เก๋าสยาม” ทั้งทีมันต้องลองค้นหากันดูสักตั้ง!
ว่ากันว่า “พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ” นี้ เป็นพระเนื้อผงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แต่มีขนาดเขื่องกว่า พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปกติทั่วไป  เส้นซุ้มมีลักษณะคล้ายกับ “พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่” แต่พอมาถึงองค์พระมีครอบแก้วรูปสามเหลี่ยมครอบองค์พระอีกที  ฐานมีสามชั้นเป็นฐานสิงห์ หรือ “ขาสิงห์” นั่นแหละครับ    ตามตำนานของนักเลงพระยังกล่าวไว้ด้วยว่า “พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ” นี้  จอมพลถนอม  กิตติขจร  อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเคยบูชาขึ้นคอมาแล้ว  จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระสมเด็จพิมพ์จอมพลถนอม” 
เมื่อลองย้อนอดีตไปในช่วงที่ “จอมพลถนอม” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่เพื่อจะดูว่ามีเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือ ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระสมเด็จพิมพ์พิเศษนี้หรือไม่ อย่างไร  ก็ปรากฏว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕  ได้มีการทำปฏิทินยี่ห้อ “สามทหาร” ออกมาแจกจ่ายให้กับประชาชน  รูปบนปฏิทินมีรูป “พระสมเด็จ” พิมพ์ต่าง ๆ อยู่มากมายหลายองค์ ผมสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “พระสมเด็จของวัดระฆัง” นั่นแหละครับเพราะเป็นที่โด่งดังมาตั้งแต่อดีต   โดยรูปบนปฏิทินนี้ตรงกลางจะมีรูปพระสมเด็จขนาดใหญ่กว่ารูปอื่นๆ  เป็น “พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ” ที่ว่านี้นั่นเอง เรามาชมรูปกันเลยครับ


ดูจากภาพแล้วก็สังเกตเห็นได้นะครับว่า  เป็นพระเก่า  รอยคราบสีน้ำตาลอ่อน และ เข้ม ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคราบอะไร  อาจจะเป็น “รัก” หรือ “คราบกรุ” อันนี้ไม่ขอสรุปครับ 
ทีนี้ลองมาดูในยุคปัจจุบัน  มีข้อมูลของ “คุณระฆัง อริยทันโตศรี” ผู้แต่งหนังสือชื่อ “สมเด็จโตที่ข้าพเจ้ารู้จัก”     มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก www.somdejto.com  ซึ่งเป็นเวปไซต์ของท่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ” นี้  จึงเอามารวมไว้ในที่นี้ด้วยเพื่อพิจารณา และ เป็นแนวทางในการ “ค้นหาความจริง” ของเรื่องนี้กันครับ
ข้อมูลในเวปไซต์นี้สรุปความได้ว่า  “พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ” นี้มีอยู่จริงสร้างโดย “สมเด็จโต”  แห่งวัดระฆังโดยท่านเรียกชื่อพิมพ์ว่า “พิมพ์ยอดขุนพล”  นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เกี่ยวกับมวลสาร และ การสร้างพระสมเด็จพิมพ์นี้ไว้ด้วย ตามรูปแล้วผมเข้าใจว่าคงคัดลอกมาจากจารึกจริงอีกที  ก็ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นที่สองมาประกอบการพิจารณาก็แล้วกันครับ เอ้า..มาดูกันเลย
จากการอ่านถ้อยคำในจารึก ก็เห็นว่ามี “คำ” บางคำที่สะกดคล้ายๆ จะเป็นภาษาไทยในยุคเก่า ท่าทางจะเข้าท่านะครับ  ถ้าเป็นไปตามนี้จริงก็หมายความว่า “พระสมเด็จพิมพ์ยอดขุนพล” นี้มีอยู่จริง และมีเพียง ๙๙ องค์อยู่ในวิหารวัดระฆัง  เป็นไปได้ไหมครับว่าอาจจะเก็บไว้บนเพดานวิหารหรือบนเพดานโบส์ถวัดระฆังก็เป็นได้ (เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ)
เคยมี “ข่าวลือ” ว่า ในปลายปี  ๒๕๑๔ มีการรื้อเพดานโบส์ถวัดระฆังเพื่อจะทำการปฏิสังขรณ์  ปรากฎว่าพบพระสมเด็จจำนวนหนึ่ง มีลักษณะงดงาม และ ที่พิเศษคือมีพระสมเด็จที่ลงรักปิดทองล่องชาด หรือ ลงรักปิดทองอย่างเดียวก็มีรวมอยู่ด้วย  แต่เนื่องจากขณะนั้นทางวัดระฆังได้มีกำหนดการสร้าง “พระสมเด็จวัดระฆัง ปี ๒๕๑๕” ในวาระครบรอบร้อยปีของ “สมเด็จโต”  พระเก่าชุดนี้จึงไม่ได้ออกมาจำหน่ายจ่ายแจกให้กับประชาชนทั่วไป  ผมเดาเอาว่าทางวัดขอขายพระใหม่ที่กำลังจะสร้างให้หมดก่อนเพื่อจะนำเงินที่ได้ไปบูรณะวัดนั่นแหละครับ ( ทำไงได้ก้อ...ลงทุนไปแล้วอ่ะ)
ข้อมูลตรงนี้มันขาดหายไป...น่ะสิครับ!
พระสมเด็จชุดที่ค้นพบนี้เมื่อไม่ได้เอาออกมาเปิดเผยแล้วเอาไปเก็บไว้ไหน ?
อยู่ที่ “วัดระฆัง” หรือ “อยู่กับใคร”?
แล้วที่พบนั้นมีกี่พิมพ์  อะไรบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมฉุกคิด! ขึ้นมาได้ว่ารูป “พระสมเด็จ” ในปฏิทินสามทหารก็ออกมาปี ๒๕๑๕  พระทุกองค์ในนั้นล้วนมีคราบสีน้ำตาลทั้งเข้ม  อ่อน มากบ้างน้อยบ้างอยู่แทบทุกองค์    คล้ายกับคราบกรุ หรือ คราบรัก เป็นไปได้มั๊ยว่ารูปดังกล่าวเป็นรูปของ “พระสมเด็จกรุเพดานโบสถ์วัดระฆัง”
ฝากท่านผู้อ่านได้แสดงความเห็น และ ช่วยคิดกันต่อเลยนะครับ
ผมเองก็จะกลับไป “ค้น ค้น ค้น”  ต่อเช่นเดียวกัน...ได้เรื่องยังไงแล้วเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังครับ
     “เจ้าประคู้....น  ลูกขอตั้งจิตอธิษฐาน    ถ้าบุญพาวาสนาส่งขอให้ “ท่านผู้อ่าน”และ  “ลูก”  มีโอกาสได้ครอบครองบูชา “พระสมเด็จพิมพ์ยอดขุนพล” ของ “สมเด็จโต” นี้ด้วยเถิด...สา.....ธุ!
สวัสดีครับ.  
เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  

"พระนารายณ์ทรงปืน" พระนารายณ์ไปมีเรื่องกับใคร ทำไมต้องพกปืน!


ผมจึงได้พิจารณา พระพิมพ์องค์นี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
( ขอเจ้าของพระเขาดูอีกทีน่ะครับไม่ได้เช่ามาบูชาหรอก..ผมมันประเภท “ขุนส่องกล้องไม่วาง” )
 ก็พบว่ามีรูปร่างลักษณะเป็นพระสามองค์เรียงกันอยู่บนฐาน  องค์กลางเป็นพระปางนาคปรก  สวมใส่เครื่องประดับอย่างขอมโบราณ  ส่วนทางขวามือของพระปางนาคปรกเป็นเทวรูปมีสี่กรดูเหมือนแต่ละพระกรจะถือบางสิ่งบางอย่างอยู่แต่ดูไม่ชัดนัก  ส่วนทางซ้ายมือขององค์พระเป็นเทวรูปผู้หญิง 



เทวรูปสตรีที่อยู่ทางซ้ายมือของพระปางนาคปรกในพระพิมพ์นี้นั้น เธอมีนามว่า
“พระนางปรัชญาปารมิตา” 
ในฝ่ายมหายานเขามีพระสูตร หรือ คำสอน ที่ถือเป็นหลักพระสูตรหนึ่งทีเดียวมีชื่อว่า  “วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร” 
ขอมก็เลยเอาพระสูตรมาทำเป็นบุคคลาธิษฐานซะ คือ ให้เป็นเทพเจ้า หรือ เทพี เสียเลย ผลก็ออกมาอย่างในรูปของ “พระนางปรัชญาปารมิตา” นี่ล่ะครับ 
พระสูตรก็คือ คำสอน  และ คำสอน ก็คือ “พระธรรม” 
ดังนั้น “พระนางปรัชญาปารมิตา” จึงเท่ากับ “พระธรรม” นั่นเองครับ
(อันนี้เป็นข้อสรุปของผมเองครับ)
ทีนี้เราหันมาดู เทวรูปสี่กร กันบ้าง  เจอครั้งแรกก็ต้องเหมาว่าเป็น “พระนารายณ์” ก่อนล่ะครับ เพราะมีสี่กร แต่ทางมหายานเขาบอกว่าเป็น
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” 
เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเมตตากรุณาช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์  บางทีก็เรียกเป็น “พระวัชระ” ก็มีนะครับ  คำว่า “วัชระ”  ใน “วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร”  หมายถึง “เพชร” แต่ไม่ใช่ “เพชรพระอุมา” นะครับ  ไม่มีลายแทงขุมทรัพย์อะไร  แต่ “เพชร” ในที่นี้เป็นคำเปรียบเทียบความ “คม” และ “แข็งแกร่ง” ของปัญญาฝ่ายมหายานที่เหมือนกับ “เพชร”  เอาไว้ตัดทำลายอวิชชา หรือ “มายา” เพื่อให้จิตมุ่งสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลส  เป็นหลักในเรื่องของ “อนัตตา” ความไม่ใช่ตัวตน เมื่อ “พระอวโลกิเตศวร” ในฐานะเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ก็ต้องเป็นรูปแทนของ “พระสงฆ์” ไปโดยนัยนี้  ส่วนที่นักเลงพระรุ่นก่อนเรียก “พระนารายณ์ทรงปืน” ประเด็นนี้ผมสุดจะคาดเดาครับ ไม่รู้ว่าทำไมไปตั้งชื่ออย่างนั้น  ก็ดูอย่าง “พระขุนแผนสะกดทัพ” กรุเมืองกาญจน์นั่นยังไงล่ะครับ..พระยืนปางถวายเนตรแท้ๆ แกยังบอก “ขุนแผนสะกดทัพ” เฮ้อ..กรรม!
ขอมโบราณเขาลึกซึ้งไม่ใช่เล่นๆ นะครับ  แค่พระพิมพ์เล็กๆ สามารถสื่อความหมายได้ครอบคลุมพุทธศาสนาของ นิกายมหายาน  ตลอดจนแฝงหลักธรรมคำสอนลงไปให้ค้นคว้าติดตาม  อัจฉริยะจริงๆ ครับ
ใครว่า..พระเครื่องเป็นเรื่องงมงาย  ถ้ามองให้ดีพระเครื่องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดศรัทธาแก่ผู้พบเห็นหรือผู้บูชา เพื่อโน้มนำพัฒนาไปสู่ปัญญา
ต้องเน้นกันอีกทีครับว่านำไปสู่ “ปัญญา”  ไม่ใช่ “ตัณหา” นะครับ..
สวัสดีครับ. 

เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  


23 พ.ย. 2553

พระสีวลี สำนักเขาอ้อ พ.ศ.2511

 พระสีวลีเป็นพระอรหันต์ผู้อุดมไปด้วยลาภสักการะ เป็นที่สักการะบูชาของผู้คนมาทุกยุคทุกสมัย เกจิอาจารย์ต่าง ๆ ท่านได้สร้างรูปเหมือน ตัวแทน พระเครื่อง พระบูชา ของพระสีวลีไว้อย่างหลากหลายมากมาย          

พุทธศักราช ๒๕๑๑ เกจิอาจารย์สายเข้าอ้อ นำโดยฆาราวาส จอมขมังเวทย์ คือ ท่านอาจารย์ชุม ไชยศรี ได้สร้างพระสีวลีเนื้อผงพุทธคุณ ด้านหลังเป็นยันต์ปั๊มแบบกดลึกลงพิมพ์ เป็นอักขระขอมจารึกอักษร "นะ ชา ลี ติ" อันเป็นคาถาหัวใจของพระสีวลี กาลเวลาล่วงเลยกว่า ๔๐ ขวบปี เนื้อหามวลสารของพระสีวลีสายเขาอ้อ ดูแกร่ง หนึก นุ่ม เพลินตาเพลินใจดีจริง..จริง



เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  

22 พ.ย. 2553

พระคงลำพูนจิ๋ว...แต่แจ๋ว

           ในบรรดาพระกรุเนื้อดินที่เก่าแก่มากที่สุดกรุหนึ่งในสยามประเทศนั้น เห็นจะเป็นกรุเมืองหริภุญไชย หรือ พระกรุลำพูน ตามตำนานกล่าวไว้ว่ามีอายุการสร้างราว 1,200-1,300 ปี ผ่านมา เป็นยุคสมัยการสร้างบ้านแปงเมือง ของพระนางจามเทวี พระกรุนี้มีมากมายหลายพิมพ์ให้ผู้ที่ชื่นชอบได้สะสมกัน อาทิ พระรอด, พระคง ,พระเปิม หรือ พระบาง เป็นต้น

    
         ด้วยความที่พระนางจามเทวีเป็นธิดาของชนชาติขอมที่มีอาณาเขตครอบคลุมถึงที่ตั้งแห่งอาณาจักรหริภุญไชยในขณะนั้น หรือ เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน พุทธศิลป์ที่ปรากฎ ในการสร้างพระเครื่อง พระพิมพ์สกุลนี้ จึงได้รับอิทธิพลของศิลปของขอมมาด้วยผสมผสานกับความอ่อนช้อยงดงามของความเป็นล้านนา พระกรุนี้จึงมีความงดงาม แบบไม่เป็นรองใคร

         สำหรับพระคงองค์ในรูปนี้ มีขนาดฐานกว้าง 1.1 ซม. สูงจากฐานถึงยอดซุ้ม 1.8ซม. เป็นพิมพ์จิ๋ว มวลสารเนื้อดินละเอียดสีน้ำตาลอ่อน มีคราบนวลกรุ ดินกรุ ราดำ ครบตามลักษณะพระกรุเนื้อดินสกุลลำพูน เหมาะแก่การบูชาน่าสะสม
เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  


         

21 พ.ย. 2553

เมื่อพระสมเด็จ “กรุวัดพระแก้ว” ร้องขอความเป็นธรรม

พระสมเด็จ “กรุวัดพระแก้ว” ในยุคนี้ผมว่าหลายคนคงเริ่มรู้จักกันบ้างแล้ว บางคนก็ถึงกับส่ายหน้า..บอกบุญไม่รับเมื่อพูดถึง “สมเด็จกรุวัดพระแก้ว” บ้างก็ว่า เป็นพระเก๊, พระแต่งนิยายหลอกขาย  บางรายถึงกับตั้งฉายาว่า “พระมโนสาเร่” ก็มี
ในดีมีชั่ว ในชั่วมีดี โลกนี้ชั่วดีปะปนกัน ผมว่าเรื่องนี้
“มันต้องมีมูล”



เอาเป็นว่าประวัติความเป็นมาผมขอวางไว้ก่อนนะครับ ข้อมูลมันยังไม่นิ่ง เรามาว่ากันด้วยลักษณะทางกายภาพกันก่อนดีกว่า...
ผมกลับบ้านลองไปรื้อๆ..ค้นๆ..ลังไม้เก่าๆ ในห้องพระของบรรพบุรุษก็ไปเจอสมเด็จกรุวัดพระแก้วอยู่องค์หนึ่ง ลักษณะเป็นพระพิมพ์สีเหลี่ยมเหมือนกับ “พระสมเด็จวัดระฆัง”  รูปร่างหน้าตาก็คล้ายกับจะเป็นพิมพ์ใหญ่
แต่...ทำไมหลวงพ่อองค์นี้ถึงมีหลากสีเป็นลูกกวาดแบบนี้ล่ะเนี่ย
ผมไม่รีรอ..รีบนำไปวิจัยต่อทันที (พูดซะหรูเชียว)  เบื้องต้นเอาพู่กันขนอ่อนปัดฝุ่นที่เกรอะกรังทั้งองค์พระออกเสียก่อน...พลิกดูด้านหลังขององค์พระ
เฮ้ย!....มี “ตราครุฑ”  ปั๊มเป็นร่องลึกคมชัดขนาดเห็นเส้นขนปีกครุฑเลยทีเดียว หรือจะเป็นของหลวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เมื่อหยิบกล้องส่องดูก็พบว่า..เนื้อหามวลสาร “ไม่ธรรมดา”
ลักษณะผิวพระด้านหน้ามีการยุบตัวไม่เท่ากัน  มีรอยปริแยก หลุม แอ่ง แตกลายงา เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นมวลสารสีขาว  ตามซอกขององค์พระมีคราบสีน้ำตาลคล้ายกับรอยคราบน้ำมันตังอิ้วของพระสมเด็จวัดระฆัง  สรุปว่าพระองค์นี้ “น่าจะเป็นพระเก่าจริง”

ผมสังเกตเห็นมวลสารสีขาวหม่นๆ มีสัณฐานกลมๆ ขนาดเล็กแทรกตัวกระจายอยู่ในเนื้อผงสีขาว และ เนื้อผงดินหลากสีเต็มองค์พระ  เป็นไปได้ไหมครับว่า นี่คือ “ผงวิเศษ” ตามตำราการสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง

จะว่าเอาผงสีขาวมาผสมสีต่างๆ ก็ไม่น่าจะใช่นะครับ เพราะมวลสารทั้งผงสีขาว และ หลากสี ที่รวมเป็นองค์พระนั้น  แยกจากกันชัดเจนไม่ซึมเข้าหากัน มีลักษณะแห้ง แกร่ง คล้ายกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน   มีความซึ้ง และ ฉ่ำ แบบธรรมชาติ 
ผมสรุปว่า พระองค์นี้เป็นพระที่สร้างมานานมาก น้องๆ พระสมเด็จวัดระฆัง เมื่อพิจารณาจากมวลสารและสภาพธรรมชาติภายนอก  ส่วนที่มาที่ไปยังต้องสืบค้นกันต่อไป 
ผมจึงขอความเมตตาจากผู้นิยมสะสมพระเครื่องทั้งหลาย  ยังไงเสียอย่าไปปรามาสดูหมิ่นองค์พระท่านเลยนะครับ  อย่างโบราณว่า “ชั่วช่างชี  ดีช่างสงฆ์” พลาดพลั้งไปเจอพระแท้ๆ พิธีสร้างดี ๆ  ก็จะพากันบาปปากไปเสียเปล่าๆ
ขอความเป็นธรรมให้กับ “พระสมเด็จกรุวัดพระแก้ว” ด้วยครับ อย่างน้อยองค์พระท่านก็มีหลักธรรมสะกิดให้เราคิดนะครับ  ดูอย่างพระหลากสีนั่นปะไร   แม้แต่ละ “สี” จะไม่ซึมเป็นเนื้อเดียวกัน  แยกกันชัดเจน “สีใคร..สีมัน”  แต่ก็รวมอยู่ด้วยกันเป็นองค์พระได้
เอ๊ะ!!...รึท่านจะรู้ล่วงหน้าจึงสร้างพระมาเตือนสติคนรุ่นหลัง...อืม...น่าคิด...น่าคิด


มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ






“พระมหาธรรมราชาลิไทย” หรือ “พระศรีธรรมาโศกราช” ไปร่วมสร้างพระ “ผงสุพรรณ” ได้ยังไง?

“พระมหาธรรมราชาลิไทย” หรือ “พระศรีธรรมาโศกราช” ไปร่วมสร้างพระ “ผงสุพรรณ” ได้ยังไง?
แล้วที่ว่า “..พระมหาเถรปิยทัสสีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น..” เป็นใคร มาจากไหนกันหนอ?
ต้องย้อนรอยประวัติศาสตร์กันก่อนนะครับ..สมัยก่อนโน้............น   (นานมากๆ)  ประเทศไทยของเรายังไม่ได้รวมชาติเป็นปึกแผ่น (ตอนนี้ไม่ค่อยแน่ใจ..ยังไงยังไง..ชอบกลน่ะ)  ผู้คนก็อยู่กันตามหัวเมือง ตามอาณาจักรต่างๆ  ที่รู้จักกันดีก็คือ “อาณาจักรสุโขทัย” และ “อาณาจักรอยุธยา”  ช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ต่างคนต่างใหญ่ ก็ต้องชิงไหวชิงพริบกันเป็นธรรมดา
ยุคสมัยของ “พระมหาธรรมราชาลิไทย” หรือ “พระศรีธรรมาโศกราช” ในจารึกลานเงินลานทองตามตำนานการสร้างพระ “ผงสุพรรณ” และ “ซุ้มกอ” นั้น ก็อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับสมัยของ “พระเจ้าอู่ทอง” แห่งกรุงศรีอยุธยา  พระองค์มีการดำเนินนโยบายที่แยบยลมาก ใช้ศาสนานำการเมืองทำนอง
“อาตมาของบิณฑบาตเมืองนี้...เถิด”   นั่นแหละครับ 
จากหนังสือของ “คุณพิเศษ  เจียจันทร์พงษ์”  เรื่อง “ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์ สุโขทัย-อยุธยา” มีความตอนหนึ่งว่า 
          "ในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทยปรากฏความในเอกสารของล้านนา คือ ตำนานมูลศาสนาเรื่องพระภิกษุชาวสุโขทัยสองรูปได้เดินทางไปนครพันในประเทศพม่า เพื่อบวชเรียนพระไตรปิฎก กับพระมหาเถรผู้มีชื่อเสียง พระภิกษุสองรูปนั้นคือ พระสุมนะ และ พระอโนมทัสสี เมื่อกลับมาสุโขทัยแล้วก็ยังนำพระภิกษุอีกหลายรูปเดินทางกลับไปเล่าเรียนเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาครั้งหลังพระภิกษุเหล่านี้ได้ถูกส่งไปเผยแพร่ศาสนาที่เรียนมา เฉพาะที่ไปต่างแคว้นก็คือ พระสุวัณณคิรีไปหลวงพระบาง พระปิยทัสสีไปอโยธา พระเวสสภูไปเมืองน่าน"
อะฮ้า!...เจอแล้วครับ  “พระปิยทัสสีไปอโยธยา” ใช่แล้วครับ “พระปิยทัสสีได้ไปพบพระเจ้าอู่ทองแห่งอาณาจักรอยุธยาอย่างแน่นอน  และในปี พ.ศ.๑๘๙๐ ซึ่งเป็นปีที่สร้าง “พระผงสุพรรณ”  เป็นปีเดียวกันกับที่ “พระมหาธรรมราชาลิไทย” ขึ้นครองราชย์  พระองค์จึงถือโอกาสนี้มาเจริญพระราชไมตรีกับอยุธยา(เข้าทำนองมากับพระนั่นแหละครับ)     พอสร้างพระบรรจุกรุกันเรียบร้อยก็ถือโอกาสขอเมือง “ชัยนาท” คืนจากจากอยุธยา  เหมือนกับที่ “พระสุมนะ” ขอบิณฑบาตเมือง “ตาก” จาก “พระเจ้ากือนา” มหาราชแห่งเมืองเชียงใหม่กลับมาให้แคว้นสุโขทัยแบบสบายๆ โดยมิต้องรบพุ่ง 
งานนี้...คุ้มจริงๆ บุญก็ได้..เมืองก็ได้
นี่แหละครับนโยบายศาสนานำการเมือง  ใครจะ “copy ไปใช้บ้างก็ได้นะครับ

เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  

มองให้ทะลุ “พระผงสุพรรณ” กับ “พระซุ้มกอ” แขวนพระกรุไหนก็เหมือนกัน

ถ้าใครเป็นผู้สนใจในประวัติศาสตร์พระเครื่องโดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคี  มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจระหว่าง “พระผงสุพรรณ” กับ “พระซุ้มกอ”
อย่างแรก “ตำนานลานเงินลานทอง” ที่จารึกการสร้างพระทั้งสองกรุนี้ อ่านแล้วผมว่าคนแต่งอักขระ น่าจะเป็นกลุ่มคนชุดเดียวกัน  มีสำนวนการเขียนใกล้เคียงกัน บุคคลที่กล่าวถึงก็เป็นกลุ่มเดียวกันอีกด้วย ลองเปรียบเทียบดูนะครับ (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ)
จารึกลานเงินที่พบในเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม “กรุพระซุ้มกอ” ตัดความมาบางส่วน
     "ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤาษี ๑๑ ตน เป็นใหญ่ ๓ ตน ฤาษีพิราลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ..........ครั้นเสร็จแล้วฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด...ฯลฯ"
จารึกลานทองที่พบในพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ  “กรุพระผงสุพรรณ” ตัดความมาบางส่วน
     "สิทธิการิยะ แสดงบาทไว้ให้รู้ มีฤาษีพิราลัย เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณเป็นต้น คือ พระบรมกษัตริย์พระศรีธรรมาโศกราช เป็นผู้ศรัทธา ฤาษีทั้ง ๔ ตน จึงพร้อมกันนำเอาแร่ว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์กับแร่ต่างๆ ครั้นได้แล้ว พระฤาษีจึงอันเชิญเทพยดาเข้ามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง ได้เอาว่านทำเป็นผงปั้นพิมพ์ ด้วยลายมือพระมหาเถรปิยทัสสีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น...ถ้าผู้ใดได้พบ ให้รีบเอาไปสักการบูชาเป็นของวิเศษ...”
(จารึกลานเงินและลานทอง คัดลอกบางตอน จาก หนังสือพระเบญจภาคี ของ “คุณตรียัมปวาย”)
มาถึงตอนนี้คงพอเชื่อได้ว่าพระฤาษี และ คณะสงฆ์ผู้สร้าง “พระซุ้มกอ” และ “พระผงสุพรรณ” เป็นคณะเดียวกัน  โดยในพิธีการสร้างทั้งสองแห่ง มี “พระศรีธรรมาโศกราช”  ที่คุณตรียัมปวายได้สรุปไว้ว่า คือ “พระมหาธรรมราชาลิไทย” กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยร่วมพิธีด้วยทั้งสองครั้ง 
พุทธคุณ และ อิทธิคุณ ของพระพิมพ์ทั้งสองกรุก็น่าจะ...เหมือนๆ กัน
หลักการเดียวกันกับที่ผมเคยเห็นคำโฆษณาในหนังสือพระเครื่องต่างๆ อ้างอิงพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกพระรุ่นนั้นรุ่นนี้นอกวัดของท่าน  เพื่อเป็นเครื่องการันต์ตีความขลัง  เช่น พระเครื่องรุ่นนี้ออกที่วัดไร่วารี “หลวงปู่ทิม” ปลุกเสก  พระเครื่องของ “หลวงปู่ทิม” ออกวัดละหารไร่ กับ วัดไร่วารี ก็น่าจะมีพุทธคุณเหมือนกัน เพราะผู้สร้างเป็นบุคคลเดียวกัน (ทำไม..ราคาต่างกันฟะ!)
ดังนั้น...พระทั้งสองกรุนี้นำมาไว้บูชาเพียงองค์ใดองค์หนึ่งก็น่าจะเป็นดังคำที่ว่า “มีกูไว้ไม่จน” เหมือนกัน  แต่ถ้า “มีกูไว้แล้วไม่ทำมาหากิน” รับรอง “จน” แน่นอนครับ
เชื่อเถอะครับเพราะอย่างน้อยก็ประหยัดเงินเช่าพระไปครึ่งหนึ่งจากต้องเช่าทั้งสององค์  ก็เหลือแค่องค์เดียว ถ้าจะอ่านเกมส์กันแบบขาด..เลย พิมพ์ไหนก็ได้ครับที่มาจากสองกรุนี้..เลือกเอาตามกำลังตามศรัทธาเลยครับ
เอาล่ะเรามาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์กันต่อ..
ว่าแต่ว่า “พระมหาธรรมราชาลิไทย” หรือ “พระศรีธรรมมาโศกราช” ในจารึกลานเงินลานทองนั้น มาทำอะไรที่ “สุพรรณ” ซึ่งเป็นเขตปกครองของ “พระเจ้าอู่ทอง” แห่งกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น?
แล้วที่ว่า “..พระมหาเถรปิยทัสสีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น..” เป็นใคร มาจากไหนกันหนอ?
To be continue…

โปรดติดตามตอนต่อไป...

20 พ.ย. 2553

ไขขาวในชินเงิน


เคยสังเกตุดูกันมั๊ยครับว่า "พระกรุเนื้อชิน" ของคุณมีไขขึ้นด้วย...ไขสีขาวๆ นี้มาจากไหน?

ถ้าเราเฝ้าสังเกตดีดี..จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของไขสีขาวๆ นี้มีเกิดขึ้นตลอดเวลาดังกล่าวที่ว่า "พระกรุมีชีวิต" ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้นิยมชื่นชอบพระกรุเฝ้าส่องพระของเขา..อย่างไม่รู้จักเบื่อ

"ไขมันผุดออกมาจากข้างในสู่ด้านนอก"  ผมสรุปจากการเฝ้าสังเกตพระเนื้อชินเงินของตัวเอง 

ผิวชั้นนอกสุดของพระบางองค์จะมี "ผิวปรอท" หรือ "พรายเงิน"  ที่มีลักษณะคล้ายฝ้า หรือ คราบขาวๆ ของเนื้อเงินคลุมอยู่บางๆ มีมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกของพระองค์นั้นๆ

แต่เจ้าไขสีขาวๆ นั้นถึงแม้มันจะอยู่ด้านนอกคลุม "ผิวปรอท" หรือ "พรายเงิน" ก็จริงอยู่ แต่มันระเบิดออกมาจากด้านใน



วิธีการสังเกตุเจ้าไขชนิดนี้เพื่อเป็นหลักในการแยกแยะพระแท้..ออกจากพระเก๊ ก็คือ  ดูที่เจ้าหลุมระเบิดนี่แหละครับ 

เมื่อเนื้อพระชินเงินระเบิดจากด้านในออกสู่ด้านนอกขอบหลุมระเบิดจะยกสูง (นึกถึงภาพข่าวเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้..คล้ายๆกัน) หลุมลึก แต่ขอบของหลุมสูง 

ถ้าเป็นของทำเลียนแบบขอบหลุมจะราบเรียบเพราะใช้กรดกัดเซาะเนื้อจากด้านนอกผิว

สีของเจ้าไขชนิดนี้ก็ไม่ขาวซะทีเดียวนะครับ..มีลักษณะชุ่มฉ่ำ เป็นมัน  สีออกเหลืองอ่อนๆ

เอาหล่ะครับ..ได้เวลากลับไปดูพระเนื้อชินเงินของท่านแล้ว

ถ้าขอบหลุมระเบิดที่เนื้อพระของท่านราบเรียบ......"ก็เรียบร้อย!"
เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  



การดูพระเนื้อดินเก่า..แบบเก๋า..เก๋า

การดูพระเนื้อดินกรุ..ตามแบบฉบับเก๋า..เก๋า นั้นประเภทที่ว่าไม่ต้องหยิบกล้องส่องก็ต่อรองราคากันเลย (มันจะเก๋าไปมั๊ยเนี่ย) ในส่วนตัวของผมมีหลักง่ายๆ อยู่สองสามอย่างครับ ลองดูตามรูปกันเลยนะครับ




อย่างแรกเลยผมดูความแห้ง และ เหี่ยว ของผิวดินครับ ดินต้องแกร่ง ผิวเหี่ยวย่นเหมือนเปลือกส้มหรือผิวคนแก่  เกิดจากการหดตัวของผิวดินที่อยู่ในกรุไม่เท่ากัน ก็เลยยับ ย่น ยู่ ยี่ แบบนี้ล่ะครับ

อย่างที่สอง รารักดำ ที่ขึ้นอยู่บนผิวชั้นนอกมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำแบบไม่สม่ำเสมอ 

อีกอย่างหนึ่งก็คือคราบนวลกรุและไขตามซอกเล็กซอกน้อย  ผิวพระจะฉ่ำเหมือนมีเยื่อบางๆ คลุมในผิวชั้นนอกสุด  ส่วนตามซอกสีจะอ่อนไล่ลงมา

ง่ายๆ อย่างนี้ รับรองได้พระแท้ๆ แน่นอน...แต่จะขายต่อได้หรือเปล่าอันนี้ไม่รับรองนะครับ

ผมว่าเอา "พุทธคุณ" ก่อน "พุทธพาณิชย์" ไว้คิดกันอีกทีดีมั๊ยคร๊า...บ!







“พระกรุ” ความสนุกที่มีมนต์เสนห์ในการสะสม

เดินเข้าตลาดพระทีไรต้องได้ยินคำถามยอดฮิตจากบรรดาเซียนเก่า เซียนแก่ถามนักสะสมรุ่นใหม่ไฟแรงว่า
“ไอ้น้องเดี๋ยวนี้เขาฮิตเหรียญหลวงพ่ออะไรกันแล้ววะ....ราคาไปยังไงกันแล้วล่ะ”
ค่านิยมของนักสะสมพระเครื่องยุคนี้แตกต่างจากยุคก่อนๆ  ในอดีตนักสะสมพระเครื่องชื่นชอบการสะสมพระกรุ พระเก่า พระโบราณ  ปัจจุบันนักสะสมพระเครื่องจำนวนมากหันมาสะสมพระเครื่องที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ต่างๆ
เนื่องจากมีความชัดเจนในเรื่องเนื้อหา แยกแยะพิมพ์ทรงได้ง่าย เป็นระบบ รู้ผู้สร้างที่แน่นอน มีที่มาที่ไป ประสบการณ์ผู้ใช้บูชายังพอบอกเล่า สืบค้นต้นตอกันเจอ
ไม่เหมือนกับพระกรุ พระโบราณ ดูข้อมูลจะลางเลือน สับสน ไปหมด 
ความสนุกที่มีเสน่ห์มันก็อยู่ตรงที่ไม่รู้แน่ชัดนี่แหละครับ
คนโบราณสร้างพระเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา  ทำให้พระกรุมีเป็นพันๆ กรุ มีหลายยุค หลายสมัย พุทธศิลปะก็แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย  ไม่ว่าจะเป็นทวาราวดี , ศรีวิชัย ,สุโขทัย ,อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์  ทำให้เราย้อนเวลาสู่ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ
พระพิมพ์ หรือ พระกรุโบราณเหล่านี้มีตำนาน มีเรื่องราวในการบอกเล่าให้เราเสมอ
ลองคิดตามกันนะครับ.....
วันหนึ่งถ้าคุณได้พระกรุโบราณมาครอบครองอยู่องค์หนึ่ง  ดูรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นพระเนื้อชิน  แต่ทำไมที่ฐานพระมีเนื้อเกินเป็นเดือยยื่นออกมา  พลางก็นึกได้ว่า
“อ๋อ..เป็นพระยอดธงนี่เอง”
“แล้วมวลสารนี้ทำจากอะไรน้า?
มาถึงตอนนี้ก็ต้องหยิบกล้องส่องพระคู่ชีพออกมาใช้งานเพื่อดูว่าเป็นเนื้ออะไร 
ด้วยภูมิรู้ของคุณพอเห็นเนื้อโลหะมีคราบผิวปรอท มีสนิมขุม เนื้อระเบิด ปริบางส่วน บางช่วงมีไขสีขาวๆ ขุ่นๆ คลุมเนื้อพระดูฉ่ำ ก็เชื่อได้ว่าทำจาก
“ชินเงิน”
“แล้วกรุไหนวะเนี่ย”  คุณพึมพำกับตัวเองเพื่อให้สมองดึงข้อมูลออกมา
ดูหน้าตาที่เรียวรี   พุทธลักษณะปางมารวิชัย แต่สีหน้าดูเคร่งเครียดขององค์พระ ไม่อ่อนช้อย จึงสรุปได้ว่าเป็น “ยุคอยุธยา”  
มาถึงตอนนี้คุณวางกล้องลงแล้วมองดูพระพักตร์ขององค์พระอีกครั้งจึงรู้ว่ามีสีหน้าเคร่งเครียดจริงๆ  เลยเดาเอาว่าช่างแกะพิมพ์พระคงจะเครียดด้วยแน่ๆ
คุณกำพระไว้ในมือขวาพลางหลับตานึกย้อนอดีตไปว่า 
เห็นหมู่สงฆ์ผู้มีวิชาเข้มขลังแห่งกรุงศรีอยุธยา กำลังสวดประสิทธิพุทธคุณลงในพระยอดธง โดยมีกษัตริย์ที่แต่งกายนักรบสมัยโบราณในชุดแม่ทัพนั่งเด่นเป็นประธาน  อยู่ท่ามกลางทแกล้วทหารหาญแห่งกรุงศรีอยุธยา เข้าร่วมพิธีและรับพระองค์นี้ติดไว้บนยอดธงประจำกองทหารของตนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการออกต่อสู้กับข้าศึกผู้รุกรานพระนคร  
บัดนี้..พระองค์นี้มาอยู่ในมือคุณแล้ว   
คุณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ไปแล้วล่ะครับ