8 ก.ย. 2554

จะ "เกศทะลุซุ้ม" ไปทำไม

เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าครับว่า...ทำไม “พระสมเด็จ” ถึงต้องมีแม่พิมพ์เป็นแบบ  “เกศทะลุซุ้ม”  คงพอนึกภาพกันออกนะครับ  ใช่แล้วครับผมหมายถึงพิมพ์ที่ “เศียร” หรือ “เกศ” ของพระเป็นยอดแหลมพุ่งทะลุเส้นซุ้มที่ครอบองค์พระไปจรดขอบสี่เหลี่ยมด้านบนของพิมพ์พระนั่นแหละครับ   ถ้ายังนึกไม่ออก เก๋าสยาม มีภาพประกอบให้ดูกันครับ  แบบนี้เลยครับ


ผมเองก็สงสัยเหมือนกันครับว่าทำไมถึงทำพิมพ์แบบนี้ขึ้นมา  เพราะอะไร  ช่างหลวงนี่ก็กระไรอยู่  จะทำให้เกศพระให้พอดีกับเส้นซุ้มไม่ได้เชียวหรือ   ลองสืบถามเท้าความกับหลายท่าน  แม้กระทั้งหาข้อมูลจากตำราที่ผู้รู้ ผู้ทรงภูมิเรื่อง “พระสมเด็จ” หรือ “อัตตชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี” ได้รจนาแต่งไว้ ก็ได้มาหลากหลายความเห็นครับ

บ้างก็ว่า “สมเด็จโต ท่านเคยขึ้นมากราบนมัสการ พระพุทธชินราช ที่เมือง พิษณุโลก  ท่านคงจะเอาอย่าง ซุ้มเรือนแก้วของ พระพุทธชินราช มาทำพิมพ์พระกระมัง”  ผมฟังๆ ดูเผินๆ แล้วก็เข้าที แต่พิจารณาอีกทีเห็นว่าไม่น่าใช่ เพราะพระพุทธชินราชนั้น องค์พระเป็นปางมารวิชัย แล้ว “พระเศียร” หรือ “พระเกศ” ขององค์พระก็มิได้แหลมชะลูดจนทะลุซุ้มเรือนแก้วสักหน่อย  เป็นอันว่าตกไปครับความเห็นนี้

บางท่านว่ากันถึงขนาด “ มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง อยู่ในวัดพระแก้วนี่แหละ เกศยาวแบบนี้เลย จนต้องเจาะรูให้ทะลุครอบแก้วที่ช่างหลวงเขาทำไว้”  ว่าไปนั่น!

สำหรับความเห็นนี้ผมว่าไปกันใหญ่  ช่างที่ไหนจะมาทำครอบแก้วองค์พระพุทธรูปโดยมิได้วัดความกว้าง ความยาว ความสูง ก่อน  และเท่าที่ เก๋าสยาม ไปสืบค้นดูก็ยังไม่เจอพระพุทธรูปที่ว่านั่นในวัดพระแก้วเลยเห็นจะต้องตัดทิ้งเหมือนกันครับ


          เดินสงสัยอยู่หลายวัน เหลือบไปเห็นรูปสมเด็จ “โต” นั่งอยู่ในท่ายอดฮิตคือ นั่งขัดสมาธิแล้วกำมือทั้งสองข้างอยู่กลางลำตัวในลักษณะซ้อนกัน  แบบที่เราๆ คุ้นตากันนั่นแหละครับ นึกในใจเหมือนกันว่า  “สมเด็จโตครับทำไมพระพิมพ์ของท่านต้องเกศทะลุซุ้ม” ( เก๋าสยามสงสัยใกล้จะเพี๊ยนล่ะครับ)   ท่านก็ไม่ได้ว่ากระไร แต่มีข้อความท้ายรูปที่เห็นว่า ท่านกำมือเป็นปริศนาธรรม “กำ” หมายถึง “กรรม” มือที่กำอยู่ข้างบนเป็น “กุศลกรรม” กรรมฝ่ายดี ส่วนมือที่กำอยู่ข้างล่างเปรียบกับ “อกุศลกรรม” หรือกรรมชั่ว นั่นเอง





  

          จึงนึกขึ้นมาได้ว่าตามพระราชประวัติของท่าน  ท่านชอบพูด หรือ กระทำอะไรเป็นปริศนาธรรม ดูอย่างคราวที่ท่านจุดใต้ตอนกลางวันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเมื่อคราวสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เพื่อไปถามความกับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้นว่าแผ่นดินมืดมัว จะคิดอ่านกันอย่างไร จนได้รับคำมั่นว่าจะร่วมปกป้องเศวตฉัตรมิได้คิดก่อการใหญ่เป็นขบถต่อแผ่นดินแลราชวงศ์จักรี    ท่านจึงได้ดับ “ใต้” แล้วเดินทางกลับ  และมีอีกมากมายหลายเหตุการณ์ที่ท่าน “ทำ” หรือ “แสดง” ให้เราๆ ได้คิด  ผมว่า “พระสมเด็จ” ก็ดุจเดียวกัน 





ความเห็นที่ดูจะเข้าท่าเข้าทางที่สุด เห็นว่า รูปทรงองค์พิมพ์ของพระสมเด็จนั้นแฝงไปด้วยปริศนาธรรม กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ นักเลงพระเรียก “เส้นบังคับพิมพ์นั้น” โบราณจารย์ท่านเปรียบไว้กับ “อริยสัจสี่” อันเป็นสัจจะความจริงสูงสุดสี่ประการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และเป็นข้อธรรมหลักในพระพุทธศาสนา ทีนี้ฐานทั้งสามนั้นท่านว่าเปรียบได้กับ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความเป็น “พุทธะ” องค์พระพุทธที่อยู่กลางพิมพ์พระเป็น “ปางสมาธิ” อันเป็นแนวทางปฏิบัติวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสั่ง    ส่วนเส้นซุ้มครอบองค์พระนั้นเปรียบไว้กับ “อวิชชา” กิเลส ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ของกู “พระอยู่กับกูแท้...พระของมึงเก๊” (อันนี้นอกเรื่องครับ)  ที่ครอบงำอยู่  


ที่นี้มาถึง “เกศทะลุซุ้ม”  เก๋าสยาม จึงขอต่อยอดความเห็นไปว่า ยอดเกศปลายแหลมที่แทงทะลุเส้นซุ้มที่ครอบองค์พระนั้น หมายถึง ปัญญาสูงสุดในทางพุทธศาสนา เปรียบได้กับเข็มปลายแหลมคมที่แทงทะลุ “อวิชชา” ให้เข้าถึง และ รู้เห็นตามความเป็นจริงคือ  “ อริยสัจสี่”   นั่นเอง


ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา  ก็ยิ่งเกิดศรัทธา รู้อย่างนี้แล้วผมว่า “พระสมเด็จ”  มีอะไรมากกว่าจะมานั่งส่องกล้องมองพระกัน  ผมว่าลองวางกล้องแล้วมองด้วยดวงตาแห่งศรัทธา โดยมีปัญญาควบคู่กันไปด้วย  การศึกษาเรื่อง “พระสมเด็จ” ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ 



เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  


สวัสดีครับ

4 ก.ย. 2554

รวมภาพ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ

        
          วันนี้ วันหยุดสุดสัปดาห์ มาพักสายตาแบบสบายๆ ไสต์ "เก๋าสยาม" ด้วยภาพพระสมเด็จ แม่พิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ กันดีกว่าครับ


















































เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  





3 ก.ย. 2554

มองจากปลายไปหาต้น กับ พระสมเด็จกรุวัดพระแก้ว

พระเนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่ผู้นิยมสะสมพระเครื่องกันอย่างขยายวงกว้างในปัจจุบันคงไม่พ้น “ พระสมเด็จพรุวัดพระแก้ว” บ้างก็เรียก “พระกรุวังหน้า”  หรือ ตามแต่จะเรียกกันไปนะครับ  ความชัดเจนในเรื่องประวัติศาสตร์ การสร้าง  บันทึก  จารึก  พงศาวดาร  หรือหลักฐานอะไรก็ตามแต่ ที่จะยืนยันแน่แท้ของพระกรุนี้ เท่าที่ เก๋าสยาม ลองสืบค้นข้อมูลดู ก็ยังไม่เจอแบบ โดนๆ ซักทีครับ 

แต่... พระพิมพ์เหล่านี้มีให้เราพบเห็นจริง ๆ เอาเป็นว่าตอนนี้ขอพักรบเรื่อง พระแท้ พระเก๊ กันก่อน  แนวทางการสืบสวนเรื่องนี้ถ้าเราหาจากต้นเหตุยังไม่เจอ เราลองมองจากปลายเหตุย้อนไปหาต้นเหตุกันดูมั๊ยครับ..ลองดูครับ 
พระพิมพ์ในสกุล “กรุวัดพระแก้ว” นี้  มีหลากหลายพิมพ์  พิมพ์หนึ่งที่ดูน่าสนใจไม่น้อยเลยคือ พิมพ์พระสมเด็จทรงหลังช้างข้างฉัตร ( ชื่อพิมพ์ เก๋าสยาม ตั้งเองนะครับอย่าถือเป็นมาตรฐาน)  ตามรูปนี้เลยครับ















































ตามข้อมูลของกลุ่มผู้นิยมสะสมพระเครื่องกรุนี้เชื่อกันว่า สร้างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ ๕ หลังจากสร้างเสร็จแล้วมีการแจกจ่ายให้ข้าราชบริพาร ขุนน้ำ ขุนนางทั้งหลาย ก่อนนำบรรจุกรุในวัดพระแก้ว ความพิเศษของพระพิมพ์ในรูปนี้เท่าที่สังเกตเห็น  การแกะพิมพ์พระทำอย่างประณีตบรรจง  มีมิติ เหลื่อมล้ำ ต่ำ สูง มีการแสดงฝีมือในเชิงช่าง ไม่ว่าจะเป็นงานแกะ งานลงรัก ปิดทอง ล่องชาด  มวลสารนอกจากเป็นผงที่เห็นแล้วยังมีส่วนผสมของผงตะไบทองคำรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
























เรื่องราวในองค์พระยิ่งน่าสนใจใหญ่ รูปช้างยืนเด่นเป็นสง่า องค์พระประทับนั่งบนอาสนะบัลลังก์  เคียงข้างด้วยพระมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น ) ทั้งสองฝั่ง สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น  แนวคิด หรือ คตินิยม แบบพุทธราชา และ เทวราชา มีมาตั้งแต่สมัยขอม ดูอย่างพระเจ้าชัยวรมันนั่นเทียว พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกที่มีลักษณะงดงามส่งแจกจ่ายไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ ที่เรารู้จักกันในนามศิลปะแบบบายน   และที่สำคัญ พระพุทธรูปเหล่านี้ทรงให้ช่างหล่อพระเศียรให้มีใบหน้าละม้ายคล้ายพระองค์มากที่สุด เป็นการใช้ศาสนานำการเมืองอย่างน่าทึ่ง คือ เจ้าเมืองไหน หรือ ชาวเมืองใด เข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปเหล่านี้ก็ต้องพบเจอ “ใบหน้า” ของพระองค์อยู่ร่ำไป  หรือ อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุดประดุจ “พระราชา” เฉกเช่นเดียวกับ องค์พระพุทธรูปที่ประทับนั่งบนอาสนะบัลลังก์ในพระพิมพ์นี้





ส่วนรูปช้างนั่นเล่า ดูราวกับเป็น พญาช้างเผือก ที่มีปรากฏอยู่ในธงช้างบนพื้นแดง อันสยามประเทศ ใช้เป็นธงชาติมาแต่สมัยรัชกาลที่  เป็นสัญลักษณ์แทน ชาติ หรือ พระราชอาณาจักรสยาม  พระมหาเศวตฉัตรทั้งสองก็เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ผู้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี   

พระพิมพ์นี้ ผู้สร้างเป็นผู้ใดกันหนอ

ใคร่กันเล่า,,จักกล้าหาญชาญชัยทำพิมพ์พระที่มีเครื่องสูงของพระเจ้าแผ่นดิน และ พระราชอาณาจักรสยาม เป็นสัญลักษณ์

ใครกัน..ที่มีช่างฝีมือดี ทั้งช่างแกะสลัก  ช่างลงรัก ปิดทอง ล่องชาด  ช่างปูนปั้น ฯลฯ

แล้วใครกัน..ที่จะนำทองคำแท้ๆ...มาตะไบจนเป็นผงแล้วผสมลงในองค์พระได้มากมายอย่างนี้ 

แล้วคุณหล่ะ คิดว่า พระพิมพ์ “กรุวัดพระแก้ว” ผู้สร้างเป็นใครกัน ?

สวัสดีครับ

มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ



30 ส.ค. 2554

พบจนได้! "พระสมเด็จ" ในตำนาน

     วันหยุดสุดสัปดาห์ก่อน "เก๋าสยาม" มีโอกาสได้กลับบ้านไปหาแม่..ตื่นเช้าขึ้นมาแม่เลยวานให้ขับรถมาส่งที่วัดพิกุลทอง  แม่กับป้าของผมแกทำอาหารไปถวาย "พระนิสิต" ที่มาเรียนพระปริยัติธรรมน่ะครับ หลายๆท่าน คงจะคุ้นๆ กันบ้างนะครับสำหรับ "วัดพิกุลทอง"    วัดพิกุลทองมีอดีตเจ้าอาวาสผู้เป็นพระเถระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และ ขึ้นชื่อเลื่องลือเรื่องความเป็นเกจิผู้เข้มขลังอีกรูปหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านผู้นี้คือ "หลวงพ่อแพ แห่ง วัดพิกุลทอง" ครับ  แต่ตอนนี้ท่านมรณะภาพไปนานแล้วล่ะครับ
ภาพบรรยากาศของวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี ครับ
รูปถ่ายของ หลวงพ่อแพ ครับ


     หลวงพ่อแพ ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนสิงห์บุรีมากเลยนะครับ  วัตถุมงคลที่ท่านทำออกมาโปรดญาติโยม ก็มีมากมายหลากหลายรุ่น เรียกได้ว่า มากพอพอกับ วัตถุมงคลของ "หลวงพ่อคูณ" ก็ว่าได้ครับ

     หลวงพ่อแพ ท่านเคารพบูชา "สมเด็จโต" แห่งวัดระฆังมากครับ ถึงขนาดได้สร้างรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริงของ "สมเด็จโต" มาประดิษฐานไว้ที่วิหารในวัดพิกุลทองเลยทีเดียว  เป็นการหล่อคราวเดียวกับองค์ที่อยู่ที่วัดระฆังนั่นแหละครับ  สังเกตุได้จากวัตถุมงคลของท่านก็ได้สร้างพระพิมพ์ "สมเด็จ" ไว้หลายรุ่นด้วยกัน เงินที่ได้มาหลวงพ่อแพ ท่านก็นำไปบริจาคสร้างโรงพยาบาลสิงห์บุรี ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ และ บริจาคในกิจการสาธารณกุศลอื่นๆ อีกมากมายครับ ปฏิปทาของท่านน่าเลื่อมใสศรัทธาจริง ๆ 





 
 

     ในระหว่างที่แม่ กับ ป้า ของผมกำลังสาละวนกับการจัดอาหารถวายพระ และ แจกจ่ายคนที่มาวัด ผมเลยเดินเล่นเรื่อยเปื่อยมาทางด้านหลังมณฑปที่ตั้ง สรีระสังขารของหลวงพ่อแพ  ไปเจอแผงพระเครื่องของนักเลงพระเมืองสิงห์เข้าให้ มีหรือที่ "เก๋าสยาม" จะไม่แวะเวียนไปดู พระที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นของหลวงพ่อแพนั่นแหละครับ เก่าบ้าง ใหม่บ้าง ปะปนกันไป แต่มาสะดุดตา สะดุดใจกับพระองค์หนึ่ง ครับ องค์ตามรูปนี้เลยครับ


พระสมเด็จพิมพ์ยอดขุนพล ด้านหน้า

โอ้!..โฮ!.. นั่นพระสมเด็จ "พิมพ์ยอดขุนพล" นี่นา ( มาได้ยังไงวะเนี่ย ) ผมนึกในใจ  พยายามเก็บอาการอยากได้ไว้แล้วรวบรวมสติถามเจ้าของพระไปว่า

"พระอะไรครับพี่ ได้มายังไงล่ะเนี่ย"

"พระกรุเพดานโบสถ์พระแก้วละมั้ง..มีคนเอามาถวายหลวงพ่อแพตั้งนานแล้ว ซักปี 38 ได้  เอามาหลายองค์หลายพิมพ์  ตอนนั้นหลวงพ่อก็ทำพระออกมาเพื่อหาเงินมาสร้างโรงพยาบาลสิงห์บุรี ทำบุญ 100-200 บาท หลวงพ่อแกก็แจกพระของแก แต่ถ้าใครทำบุญ 1,000 บาทขึ้นไปแกจะแจกพระชุดนี้ให้คนละ 1 องค์ นี่ก็ได้มาตั้งแต่ตอนนั้นแหละ" เจ้าของพระตอบเสียยืดยาว

"พี่ครับผมชอบ ขอแบ่งไปบูชาได้หรือเปล่าครับ" ผมถามเอาดื้อ ๆ และยังคงยืนรอลุ้นคำตอบอยู่

"เอ้า..ชอบก็เอาไป.."  เป็นอันว่าเรียบร้อยโรงเรียน "เก๋าสยาม"

ด้านหลัง
  
     พอมาพิจารณาสภาพทางกายภาพขององค์พระ "เก๋าสยาม" เห็นว่าเป็นพระเก่าจริงเป็นแน่ ดูจากพิมพ์ทรง คม ชัด ลึก สภาพธรรมชาติของความเก่าก็มีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น รอย ยุบ ย่น ปริแยก แตก เป็นหลุม เป็นบ่อ มวลสารนั้นเล่าก็มีให้ดู ยังปิดท้ายด้วยการลงรัก ลงชาด และปิดทองทับ ตามแบบฉบับงานช่างหลวงพระองค์นี้ "เก๋าสยาม" ว่าแท้หายห่วง  นี่ถ้าแม่..ไม่ได้ลากมาทำบุญทำกุศลคงจะมิได้พานพบเจอะเจองานนี้คงต้องพูดได้อย่างเดียวว่า

"ขอบคุณครับแม่...ผมรักแม่จังเลย"


เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  









26 พ.ค. 2554

พระสมเด็จ ว่าด้วยเรื่อง บันทึกของ “หลวงปู่ดำ” ตอนที่ ๒


    นตอนนี้เรามาว่ากันด้วยเนื้อใหญ่ใจความ ใน“บันทึกของหลวงปู่ดำ”กันตามสัญญาครับ เนื่องจากบันทึกมีการคัดลอกมาหลายทอดตามที่ “เก๋าสยาม” แจงที่มาที่ไปกันในตอนที่แล้ว ข้อความในบันทึกฉบับสุดท้ายก็ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่ก็พอจับใจความได้ดังนี้ครับ


  
“..พ่อโตบวชพระเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ เกิด ชาตะ ๒๓๓๐ บวชพระ ๖๕ พรรษา มรณะ ๒๔๑๕ บวชเณร ๘ พรรษา บวชตั้งแต่เป็นเณร พ.ศ.๒๓๔๒.. 
และ ข้อความที่ว่า..
"พิมพ์พระสมเด็จทรงนิยมที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จัก
พิมพ์ที่ ๑ ทรงพระประธาน มี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๒ ทรงชายจีวร มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๓ อกร่องหูยานฐานแซม มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๔ เกศบัวตูม มี ๔ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๕ ปรกโพธิ์มีพิมพ์ที่ไม่แตกมี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๖ ฐานคู่มีพิมพ์ที่ไม่แตก มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๗ เส้นด้าย มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๘ สังฆาฏิ มี ๗ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
พิมพ์ที่ ๙ หน้าโหนกอกครุฑ มี ๑๖ พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่
พิมพ์ที่๑๐ พิมพ์ทรงเจดีย์ มี ๒ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์ 
เมื่อพระคุณท่านได้มรณภาพแล้ว รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์ เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์ นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์ แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ และพิมพ์ไกเซอร์ที่เสด็จยุโรป ๓๐๐ องค์ ๆ พิมพ์เป็นพระได้แจกให้พระเจ้าไกเซอร์ ต่อมาได้ทำพิมพ์เศียรบาตรขึ้นมาแทนพิมพ์ไกเซอร์ เพราะใครก็อยากได้พิมพ์ไกเซอร์ เลยเอาพิมพ์เศียรบาตรแทน ต่อมาคนได้เชื่อว่าพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ไกเซอร์ แต่ความจริงไม่ใช่ พิมพ์ไกเซอร์องค์พระนั่งบนบัว " 
     บันทึกของหลวงปู่ดำ เป็นบันทึกที่มีคุณค่าจริงๆ ครับ ทำให้เรารู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพระสมเด็จ เช่น แบบพิมพ์ที่มีอยู่หลากหลาย แถมยังมีพิมพ์คะแนนอีกด้วย ทำให้จินตนาการต่อไปว่า ที่ว่า “พิมพ์คะแนน” มันเล็กกว่า หรือ ใหญ่กว่าพิมพ์ปกติ  นี่ก็เรื่องหนึ่ง ส่วนที่ยังถกเถียงกันอยู่เรื่องพิมพ์ไกเซอร์ ก็มีปรากฏในบันทึกนี้ด้วย “เป็นรูปพระนั่งอยู่บนบัว” ไม่ใช่พิมพ์เศียรบาตร ตามที่เข้าใจกัน
และ..ที่สำคัญ ข้อความที่ว่า..
  "รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์ เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์ นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์ แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ"
     พระสมเด็จพิมพ์ที่นิยมมีมากถึง ๘๑ พิมพ์ ที่ไม่นิยมก็ยังมีอีก ๘๓ พิมพ์ ขนาดพระที่ แตก ๆ หักๆ ยังเก็บไว้ให้เห็นอีก ๘ ถาดทองเหลืองใหญ่ๆ คุณว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่สร้างโดย สมเด็จโต จะมีกี่องค์กัน..
ร้อยองค์..
พันองค์..
หมื่นองค์..
แสนองค์...
หรือ..จะมีแค่สองร้อยองค์อย่างที่บางคนเขาว่ากัน..?
สวัสดีครับ



เชิญแวะชม "ร้านเก๋าสยามพาณิชย์" ตาม Link นี้ด้านล่างเลยนะครับ  

พระสมเด็จ ว่าด้วยเรื่อง บันทึกของ “หลวงปู่ดำ”

ตำนานเรื่องราวในการสร้าง “พระสมเด็จ” มีมากมายหลากหลายที่มา บ้างก็เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา บ้างก็เป็นวัตถุที่อ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับ   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  แต่ที่มีพูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ อีกชิ้นหนึ่งก็เห็นจะเป็น “บันทึกของหลวงปู่ดำ”  ครับ
เราคงมีคำถามในใจกันแล้วล่ะครับว่า “หลวงปู่ดำ เป็นใคร?” เกี่ยวข้องกับ “สมเด็จโต” อย่างไร
“หลวงปู่ดำ” เป็นพระสงฆ์ยุคเดียวกับ “สมเด็จโต” คือมีชีวิตอยู่ทันกันแถมยังรู้จักกันอีกด้วย แกมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดอัมรินทร์ มีหลักฐานปรากฏในภาพถ่ายยอดฮิต! ที่ “เก๋าสยาม” นำมาให้ชมกันด้านล่างนี้เลยครับ

     "หลวงปู่ดำ"  คือ พระที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายของ สมเด็จโต ตามภาพถ่าย สมเด็จโตแกชอบเรียกว่า “หลวงพี่ดำ” เป็นอันสิ้นสงสัยไปข้อแรกว่าหลวงปู่ดำมีตัวตนจริงๆ และมีชีวิตอยู่ทันกับสมเด็จโต และหลวงปู่ดำ เป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วย สมเด็จโต ทำพระสมเด็จ อีกด้วย
ทีนี้มาดูบันทึกของหลวงปู่ดำกันว่าเป็นมายังไง   เท่าที่ “เก๋าสยาม” สืบค้นดูยังไม่เจอบันทึกฉบับดั้งเดิม (original) เจอแต่ บันทึก.. ของ.. บันทึก.. ของ.. บันทึก..ของ..บันทึก  คือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ 

เนื่องด้วยหลวงปู่ดำ แกเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สร้าง พระสมเด็จ พอสมเด็จโต มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๑๕ หลวงปู่ดำ ก็ทำการรวบรวม “แม่พิมพ์พระสมเด็จ” ที่ยังคงใช้การได้อยู่ คือ ไม่แตก ไม่หัก สามารถใช้เป็นแม่พิมพ์ต่อได้  มาทำการจดบันทึกไว้ ทีนี้ในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ถึงคราว หลวงปู่ดำ ท่านมรณภาพบ้าง ต่อมาอีก ๔ ปี คือใน ปี พ.ศ.๒๔๒๕ บันทึกนี้ก็มีการคัดลอกขึ้นมาใหม่และฉบับที่คัดลอกขึ้นมาใหม่นี้ตกไปอยู่กับ “พระครูปลัดมิศร์” ก็ไม่ใช่พระที่ไหนอื่นไกลหรอกครับ ท่านก็นั่งอยู่ข้างๆ หลวงปู่ดำ ตามภาพถ่ายข้างบนนั่นแหละครับ  อา......บันทึก..ของ..บันทึก ได้เกิดขึ้นแล้ว 

ลุปี พุทธศักราช ๒๔๓๙  “นายพึ่ง” บุตรชาย ของ “นายเลี่ยม” บ้านช่างหล่อ ( หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่หลังวัดระฆังครับ)  ได้ขอคักลอกบันทึกนี้จาก พระครูปลัดมิศร์ อีกต่อหนึ่ง “นายพึ่ง” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ชื่อเสียงคุ้นหูว่าเป็นหนึ่งในบรรดา “ช่างหลวง” ผู้แกะแม่พิมพ์พระถวายสมเด็จโตที่เรารู้จักกันในนามว่า “หลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมากร)” 

เช่นนี้เอง  บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึก ได้กำเนิดขึ้นในครานี้
เล่มสุดท้ายที่ “เก๋าสยาม” พบเจอก็คือเล่มนี้ ครับ

     
     ตามภาพถ่ายนี้คือ บันทึกเล่มที่หลานของ “หลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมากร)  แกชื่อว่า “นายจอม” มีตำแหน่งแห่งที่เป็นถึง หัวหน้ากองกษาปณ์ในสมัยนั้น ( สมกับเป็นตระกูลช่างหลวง จริ๊งๆ ) ได้คัดลอกขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นอันสิ้นสุดตำนานของ บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึก..ของ..บันทึกของ“หลวงปู่ดำ”









คราวหน้า..เดี๋ยวเรามาว่ากันด้วยเรื่องเนื้อหาใน “บันทึกของหลวงปู่ดำ” กันครับ
สวัสดีครับ

พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ

          "เล่นสมเด็จ เสร็จทุกราย"  เป็นคำพูดทีเล่นทีจริงที่คุ้นหูในบรรดาแวดวงนักสะสมพระเครื่อง ด้วยเหตุว่า "พระสมเด็จ" เป็นสุดยอดพระเครื่อง ยอดปรารถนาที่จะหามาครอบครองของผู้สะสม จนทำให้มีมูลค่าการสะสมที่สูงเป็น แสน เป็นล้าน หรือ หลายสิบล้านบาท ตลอดจนมีการสร้างพระเครื่องเนื้อผง รูปสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนฐานสามชั้น สืบต่อเนื่องกันมาหลายต่อหลายยุค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่นับรวมถึงพวกทำปลอม เลียนแบบ พระสมเด็จ มากจนนับเนื่องไม่ได้ แนวทางการศึกษา "พระสมเด็จ" ก็มีมากมายหลายตำรา หลายสำนัก การเข้าถึงความจริงแท้แห่ง "พระสมเด็จ" จึงหาข้อยุติไม่ได้ในปัจจุบัน


          ในช่วงไม่นานมานี้ ผมได้ยินได้ฟัง "นักเลงพระ" รุ่นเก่า เก๋า กึ๊ก พูดถึงพระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ ว่าเป็น "พระสมเด็จ" อีกพิมพ์หนึ่งที่นักนิยมสะสมพระเครื่องรุ่นเก่าชื่นชอบกัน และ มีสนนราคาเล่นหากันแพงมากในอดีต  แปลกใจตรงที่ว่า คนสมัยนี้ทำไมไม่นิยม หรือ บางทีก็ "สวด" ว่าเป็นพระ "เก๊!"  กันเลยก็มี  ได้ยินได้ฟังแบบนี้ "เก๋าสยาม" จะไม่สนใจ  เลยเลียบๆ เคียงๆ ถาม "นักเลงพระ" รุ่นเก๋าให้รู้ความกันไปเลย  ก็เลยอยากจะบอกกล่าวเล่าแจ้งให้ฟังกัน


         "หลวงสิทธิ์ฯ" เป็นช่างหลวงคนหนึ่งในยุคร่วมสมัยกับ "สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี" ที่ผมทำเครื่องหมาย "ฯ" ไว้เพราะผมเองก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดแจ้งว่า "หลวงสิทธิ์ฯ" แกชื่อเต็มๆ ว่าอย่างไร  บ้างก็ว่า ชื่อ หลวงสิทธิการ บ้าง หรือ บ้างก็ว่า ชื่อ หลวงสิทธิโยธารักษ์ ก็มี  เอาเป็นว่าของติดไว้ก่อนแล้ว เก๋าสยาม จะลองไปสืบค้นให้นะครับ ในชั้นนี้ของเรียกว่า "หลวงสิทธิ์ฯ" ไปก่อนก็แล้วกัน


          นักเลงพระรุ่นเก๋ายังเล่าต่อไปว่า หลวงสิทธิ์ฯ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จให้กับ สมเด็จโต แห่ง วัดระฆัง อีกท่านหนึ่งด้วย แกยังบอกด้วยว่า แกะแม่พิมพ์ถวายก่อนพิมพ์ ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ตั้ง 30 ขวบปีกว่า  หมายความว่า พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ เก่ากว่า พระสมเด็จพิมพ์หลวงวิจารณ์ฯ แกยืนยันว่าอย่างนั้น ครับ!


          "แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าพิมพ์ไหนเป็นของหลวงสิทธิ์ฯล่ะครับ"  เก๋าสยามถามต่อ


          "พระสมเด็จพิมพ์หลวงสิทธิ์ฯ  มีเอกลักษณ์ที่องค์พระจะดูล่ำสัน สมส่วน สง่าผ่าเผย ที่สำคัญ ฐานชั้นที่สองที่บางคนเรียกฐานสิงห์ หรือ ขาสิงห์ นั้น หัวฐานด้านขวามือขององค์พระจะเชิดขึ้นแบบ หัวเรือสำเภา  ตรงบริเวณนี้จะมีการยุบตัว ม้วนตัว ที่บ่งบอกได้ถึงความเก่า น่าจะถอดแบบมาจาก "พระอู่ทองฐานสำเภา" นั่นแหละ"  ลุงนักเลงพระรุ่นเก๋าอธิบายอย่างมั่นใจ


          บทสนทนาสั้นๆ ของเราจบลงเพียงเท่านี้ และนี่เป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ยังไงก็ฟังหู ไว้สองหู ก็แล้วกันนะครับ


มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ
http://conservativesiam.blogspot.com/2012/11/blog-post.html


    


พระสมเด็จตามรูปด้านล่างนี้ผมเปิดให้บูชามูลค่าในการสะสมตั้งไว้ที่องค์ละ 8,800 บาท นะครับ...สนใจติดต่อโทร.087-551-5255