30 พ.ย. 2553

"พระรอดสองหน้า" พระนามกระเดื่องแห่งเมืองพะเยา

“พะเยา” เป็นเมืองเก่าแก่อีกเมืองหนึ่งบนแผ่นดินล้านหน้า  สำหรับ “พระกรุพะเยา”  เป็นพระที่ขุดพบในเขตจังหวัดพะเยา  มีมากมายหลายกรุ  ผมขอเรียกรวมๆ ว่า “พระกรุพะเยา” ก็แล้วกันนะครับ   นักวิชาการด้านโบราณคดีสันนิษฐานว่า “พระกรุพะเยา” นี้น่าจะสร้างราวๆ พทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘  ก็นับว่าเก่าไม่ใช่น้อย  แต่ก็เป็นยุคหลังพระสกุล “ลำพูน” ที่สร้างราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดูจากตำแหน่งแห่งที่ของพระทั้งสองกรุนี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ใกล้..เดินก็เพียงชั่วเคี้ยวหมากแหลก (แหลกแล้วแหลกอีกน่ะสิ)  ฝีมือเชิงช่างและคตินิยมในการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์น่าจะหนีกันไม่ไกลนัก























พระพิมพ์ที่ขึ้นชื่อลือชา ของกรุพะเยานี้ก็มีหลายพิมพ์หนึ่งในนั้นก็คือ พิมพ์พระรอด  และที่ไม่เหมือนใคร คือ หน้าเดียวกลัวไม่รอดจึงเป็น “พระรอดสองหน้า”  เป็นพระเนื้อชินเขียว  บ้างก็เรียกชินอุทุมพร  พุทธลักษณะเป็นพระพุทธปางมารวิชัย  ประทับนั่งอยู่บนฐาน “เขียง” ภายใต้ซุ้ม “โพธิ์ขีด”    ลองสังเกตดูแล้วหน้าตาก็คล้ายพระรอดสกุล “ลำพูน” อยู่มากทีเดียว

ทีนี้เรามาดูลักษณะเฉพาะของ “พระรอดสองหน้ากรุพะเยา”  องค์นี้กันดีกว่า   อย่างแรกที่เห็นชัดเจนคือ มีไขสีขาวอมเหลืองหม่นๆ ขึ้นเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ กระจายอยู่เต็มองค์พระทั้งสองหน้า  ลักษณะแบบนี้นักเลงพระเขาเรียกว่า “สนิมไข ไข่แมงดา” ส่วนลักษณะมวลสารที่เป็นชินเขียวหรือชินอุทุมพร  ก็มีลักษณะเป็นมัน ฉ่ำ ไล่เฉดสี ดำ เทา น้ำตาล เข้ม อ่อน  แตกต่างกันไปดูแล้วซึ้งตา มาดูรูปกันเลยดีกว่าครับโบราณว่า “สิบปากว่าไม่เท่าสองตาเห็น”


คนรุ่นเก่านักเลงรุ่นใหญ่เขายกนิ้วให้ว่าพระรอดสองหน้าชินเขียวนี้ “เหนียว” จริง ไอ้ที่เหนียวน่ะหมายถึง หนังเหนียวอยู่ยงคงกระพันนะครับประเภท “ฟันไม่เข้า (ไม่เข้าไปยุ่งด้วย) ยิงไม่ออก(ไม่ออกจากบ้าน)” ไม่ใช่ “เหนียวหนี้”  เรื่องพุทธคุณเนี่ยเป็นความเชื่อส่วนบุคคลครับ แต่ผมมั่นใจว่าถ้าอาราธนา “พระรอดสองหน้าชินเขียวกรุพะเยา” นี้ขึ้นคอบูชาแล้วอยู่ยง “คงความดี” รับรองชีวิตไม่มีอันตรายแน่นอนครับ
สวัสดีครับ.

มุมนักสะสมพระเครื่อง เชิญแวะชมใน 
"พระสวยสะดุดตา ราคาสะดุดใจ" ตาม Link นี้เลยครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น